xs
xsm
sm
md
lg

สกว.เตือนอย่าประมาทแผ่นดินไหว พบรอยเลื่อนซ่อนใต้ กทม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีการแถลงข่าว “จากแผ่นดินไหวญี่ปุ่น และเอกวาดอร์ สู่การรับมือของประเทศไทย” โดย ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นที่พิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. กล่าวว่า แผ่นดินไหวบนเกาะคิวชูที่ญี่ปุ่นรุนแรงขนาด 7 ไม่เกินความคาดหมาย เพราะตั้งอยู่บนรอยเลื่อนมีพลัง ในอดีตเกาะคิวชูเคยเกิดแผ่นดินไหวระดับลึกเป็นส่วนใหญ่ แต่ครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวระดับตื้นเพียง 10 กิโลเมตร ทำให้อาคารบ้านเรือนเสียหายมาก

ส่วนแผ่นดินไหวที่เอกวาดอร์ขนาด 7.8 คนเสียชีวิตมากกว่า 400 คนแล้ว เกิดจากแผ่นเปลือกโลกมุดตัว ซึ่งแนวนี้มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นตลอดเวลา ครั้งใหญ่สุดเมื่อปี 2503 รุนแรง 9.3 อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวทั้งสองเหตุการณ์ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องกัน เพราะระยะทางห่างไกลกันถึง 15,000 กิโลเมตร แต่เป็นพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวชุกชุมซึ่งมาเกิดเหตุต่อเนื่องกันในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา

สำหรับความกังวลว่าแผ่นดินไหวของโลกเกิดบ่อยขึ้นจริงหรือไม่นั้น จากข้อมูลสถิติพบว่าไหวใหญ่ๆ ขนาด 6-7 ไม่เกิดเพิ่มขึ้น รวมถึงผลกระทบจากแผ่นดินไหวต่อไทยนั้นยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าแผ่นดินไหวที่ไต้หวันหรือแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อื่นๆ ในโลก ส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อยในไทยโดยตรง ไม่ว่าเนปาล สุมาตรา ญี่ปุ่น จีน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวญี่ปุ่นไทยเกิดแผ่นดินไหวขนาดต่ำกว่า 1 แต่ไม่ทราบศูนย์กลางแผ่นดินไหวส่วนใหญ่ไหวเล็กๆ ในภาคเหนือและรอยเลื่อนมีพลัง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว เพราะมี 14 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่านประเทศ กระจุกตัวในภาคเหนือ, ตะวันตก และภาคใต้ ทุกรอยเลื่อนสามารถเกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง ระดับ 5- 6 ขึ้นไป ส่วนมากเกิดในภาคเหนือ เมื่อสองปีที่แล้วเกิดในพื้นที่แม่ลาว จ.เชียงราย อาคารบ้านเรือนเสียหายมาก

“ไทยยังมีรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ แต่มีดินตะกอนปิดทับอยู่ ทำให้ไม่ปรากฏ และไม่ได้ใส่ในแผนที่รอยเลื่อนประเทศไทย 3-4 ปี ก่อนกรมทรัพยากรธรณีเคยศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ พบรอยเลื่อนอยู่บ้าง แต่ไม่ทราบว่ามีพลังแค่ไหน ส่วนรอบกรุงเทพฯ อย่างกลุ่มรอยเลื่อนนครนายก สระบุรี กาญจนบุรี ท่าเรือ ยังไม่ได้ข้อสรุปมีพลังหรือไม่ ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ไม่มีข้อมูลมากนัก รอยเลื่อนที่ซ่อนตัวเหล่านี้ควรศึกษาต่อไปในอนาคต หากมีอยู่ใต้เมืองใหญ่และมีศักยภาพเกิดแผ่นดินไหว นั่นหมายถึงเรานั่งบนรอยเลื่อน แผ่นดินไหวที่แคลิฟอร์เนีย และไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ เสียหายหนัก ก็ไม่ทราบว่ามีรอยเลื่อนมีพลังเกิดไหวใต้เมือง ไทยมีทั้งรอยเลื่อนมีพลังและรอยเลื่อนที่ซ่อน ต้องเตรียมพร้อมรับมือด้วย” ผศ.ดร.ภาสกรกล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วินิชชัย หัวหน้าชุดโครงการวิจัยลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในไทย สกว. สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่า ไทยมีสิทธิเจอแผ่นดินไหวรุนแรงแบบญี่ปุ่น เพราะมีถึง 14 รอยเลื่อนมีพลัง และรอยเลื่อนที่มองไม่เห็นแถวจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งขาดเป็นช่วงๆ แต่หากระเบิดครบแนวรอยเลื่อน คาดการณ์ว่าจะถึงขนาด 7-7.2 มีศักยภาพใหญ่กว่าแม่ลาว อย่างไรก็ตาม ไทยโอกาสเกิดแผ่นดินไหวน้อยกว่า เพราะปริมาณแผ่นดินไหวต่อปีบ้านเราน้อยกว่าญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟ แม้จะเกิดยากกว่า จำเป็นต้องออกแบบอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนจะได้ไม่พังทลาย

นายบุรินทร์ เวชบรรเทิง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า แผ่นดินไหวขนาด 9.3 ที่เกาะสุมาตราเมื่อปี 47 ส่งผลเกิดคลื่นสึนามิกระทบประเทศไทย นำมาสู่การพัฒนาระบบตรวจเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและสึนามิ เกิดสถานีตรวจเฝ้าระวังแผ่นดินไหว 40 สถานีทั่วประเทศ ปัจจุบันระบบตรวจวัดยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว โดยเฉพาะภาคเหนือและใต้ รวมทั้งพบแผ่นดินไหวเกิดถี่ขึ้นในภาคใต้ ขนาด 3-4 ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่ จ.ภูเก็ต พังงา ตรัง และสุราษฎร์ธานี ผลจากปี 47 ทำให้กลุ่มรอยเลื่อนภาคใต้มีพลังมากขึ้น แต่ไม่ใช่ขนาดใหญ่

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาตั้งงบปี 59 เพื่อลงทุนเพิ่มสถานีตรวจวัดอัตราเร่งอีก 25 แห่ง ในพื้นที่ชุมชนเมืองมากขึ้น หากครบเครือข่ายตรวจวัดในอนาคตที่กรมกำลังติดตั้งปี 2559-2561 จะมีสถานีตรวจวัด 125 แห่ง รวมถึงจะเพิ่มเครื่องมือตรวจวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ช่วยให้สมรรถนะสูงขึ้นในการเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและเป็นข้อมูลให้นักวิจัยไปทำงานต่อ เราทำงาน 24 ชั่วโมง และมีมาตรฐานเทียบเท่าต่างประเทศ

ด้าน ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า แผ่นดินไหวไม่ได้ฆ่าคน โครงสร้างถล่มต่างหากที่ทำให้คนเสียชีวิต แผ่นดินไหวญี่ปุ่น พบว่าอาคารที่เสียหายมากเป็นบ้านหลังเล็กๆ สร้างตามแบบที่เคยสร้างในอดีต แม้ญี่ปุ่นจะมีการเตรียมพร้อมรับมือที่ดี แต่มีอาคารเพียงร้อยละ 75 เท่านั้นที่ได้มาตรฐานต้านแผ่นดินไหว เจ้าของอาคารจำนวนมากยังไม่ยอมปรับปรุงอาคาร ส่วนที่เอกวาดอร์ขนาด 7.8 รุนแรงสุดในรอบ 67 ปี คนตายเกิน 400 การไหวทำลายโครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กให้พังถล่ม กลับมาที่ไทยแผ่นดินไหวแม่ลาว บ้านเสียหาย 9,000 หลัง

“ไทยต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวไทยให้เสร็จโดยเร็ว ขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองและสภาวิศวกรกำลังดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงในส่วนที่ตนรับผิดชอบ กรมโยธาฯ พิจารณาลดความสูงของอาคารที่ต้องออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวลงจาก 15 เมตร สภาวิศวกรกำลังกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2550 เพิ่มอาคารที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 150 ตารางเมตรในพื้นที่และบริเวณเฝ้าระวังแผ่นดินไหวต้องสร้างอาคารต้านทานแผ่นดินไหวแก้กฎหมายเพื่อให้ครอบคลุม จะเห็นว่าแผ่นดินไหวญี่ปุ่น เชียงราย อาคารขนาดเล็กเสียหายจำนวนมาก” ศ.ดร.อมรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น