xs
xsm
sm
md
lg

สจล.ชูสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โต้เอ็นจีโอให้ข้อมูลบิดเบือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chaophraya for all) เปิดเผยถึงกรณีกลุ่ม Friends of the river ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนและเผยแพร่รูปภาพเกี่ยวกับโครงการไม่ตรงกับข้อเท็จจริงว่า สจล.ในฐานะคณะที่ปรึกษาได้เซ็นสัญญากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 29 ก.พ.2559 ได้รับงบประมาณศึกษาจำนวน 120 ล้านบาท และเริ่มศึกษาลงพื้นที่สำรวจชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำ ฝั่งละ 7 กม. รวม 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นโครงการนำร่องจากโครงการตามแผนแม่บทที่มีระยะทางทั้งหมด 57 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงคุ้งบางกระเจ้า โดยเริ่มศึกษาเมื่อวันที่ 1 มี.ค. เพื่อสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทโครงการเสนอให้ กทม.พิจารณา โดยมีแนวคิดหลักคือ ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นของทุกคน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ทุกคนใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ริมคลองกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ถูกจับจองโดยเอกชน ซึ่งการเข้ามาดำเนินการสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำ เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และจะปรับภูมิทัศน์ รวมทั้งเชื่อมต่อระบบขนส่งทางรางหรือรถไฟฟ้า เรือ และรถโดยสารประจำทาง อีกทั้งต้องการให้เป็นพื้นที่สีเขียว ทางเดินเท้าและปั่นจักรยาน ส่งเสริมนันทนาการ เชิดชูวัฒนธรรมและรักษาวิถีชุมชน อนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่นเอาไว้ ขณะเดียวกัน มีการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมให้ดีขึ้น โดยโครงการทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามีระยะเวลาศึกษาทั้งสิ้น 7 เดือน และจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2560

ทั้งนี้ที่ผ่านมากลุ่ม Friends of the river ได้ออกมาเคลื่อนไหวและให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไป 7 ประเด็น ดังนี้ 1.คำอ้าง ที่ว่าโครงการไม่ได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ขอชี้แจงว่าขณะนี้โครงการยังไม่มีภาพหรือรูปแบบโครงการออกมาสู่สาธารณะ เพราะอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาผลกระทบและวิธีดำเนินการ ภาพที่บางกลุ่มนำไปเผยแพร่และติดประกาศบริเวณชุมชนต่างๆ นั้นไม่ได้เป็นภาพจากโครงการ แต่เป็นภาพที่เกิดจากการคาดเดาเอาจากทีโออาร์ฉบับเดิมที่ยังไม่ได้แก้ไข ซึ่งเป็นภาพทางเดินรูปแบบเดียว มีฐานตอม่อในแม่น้ำ และเป็นพื้นคอนกรีตยาวตลอดแนวแม่น้ำ ซึ่งไม่จริง เพราะตอนนี้แก้ไขเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ไปแล้ว เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะชุมชนแต่ละแห่งตามที่มีการศึกษา

2.การอ้างว่าโครงการนี้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญรอบ ด้านนั้นไม่เป็นจริง เพราะโครงการได้กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญหลายด้านบูรณาการร่วมกัน สลับสับเปลี่ยนกันลงพื้นที่ชุมชนเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาและศึกษาผลกระทบ และร่วมกันหาแนวทางรักษาวิถีชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ ทั้งจาก สจล.และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้ทำสัญญากับ กทม. โดยทาง ม.ขอนแก่น ได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ทั้งที่เป็นโครงการที่ไม่จำเป็นต้องทำอีไอเอก็ได้ เนื่องจากโครงการไม่เข้าข่ายส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงสร้างมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับโครงสร้างสะพานหรือเขื่อน

3.มีการแสดงภาพถนนกว้าง 19.5 เมตร และ 15 เมตรนั้น ไม่จริง เพราะโครงการยังไม่ได้กำหนดรูปแบบว่าจะเป็นอย่างไร กำลังศึกษาในรายละเอียด โดยเน้นศึกษาหาแนวทางปรับรูปแบบทางเดินริมแม่น้ำไปตามลักษณะภูมิประเทศของชุมชนต่างๆ บางแห่งอาจต้องทำทางเดินอ้อมย่านชุมชนที่มีวัฒนธรรมที่สวยงามอยู่แล้ว เพราะทางเดินจะผ่านทั้งโบสถ์คริสต์ วัด ลานกีฬา ชุมชน ท่าเรือ เป็นต้น คือการศึกษาจะปรับไปตามสภาพชุมชนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมมากที่สุด แต่บ้านบางแห่งก็ต้องรื้อย้ายเนื่องจากรุกล้ำแม่น้ำ

4.อยากให้ประชาชนรับฟังข้อมูลอย่างรอบ ด้านก่อนตัดสินใจ 5.หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าระยะเวลาศึกษา 7 เดือนจะเพียงพอหรือไม่นั้น ยืนยันว่าคณะทำงานได้รับฟังความเห็นของประชาชนบริเวณที่จะก่อสร้างแล้ว สำหรับระยะแรกโครงการนำร่องทางเดิน 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานปิ่นเกล้า ได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชน 31 แห่งใน 4 เขตคือ เขตบางซื่อ เขตพระนคร เขตบางพลัดและเขตดุสิต รวมกว่า 180 ครั้ง จะลงพื้นที่ชุมชนละ 6 รอบ ซึ่งตอนนี้ลงพื้นที่ครบทุกชุมชนแล้ว 1 รอบ โดยแต่ละวันได้แบ่งเป็น 3 ทีม ทีมละประมาณ 5 คน ลงพื้นที่ชุมชนศึกษาข้อมูลโครงการ

6.ข้อกล่าวอ้างว่าโครงการนี้ขาดการศึกษาอย่างรอบด้านนั้น ทางคณะที่ปรึกษาขอให้เชื่อใจว่าเรามีเจ้าหน้าที่จำนวนมากกว่า 60 คน ลงพื้นที่หาข้อมูลที่ละเอียดรอบคอบมากที่สุด เพื่อนำมาวิเคราะห์และร่างรูปแบบโครงการให้เสร็จสมบูรณ์ และ 7.มีการอ้างว่าทางเดินระยะแรก 14 กม. ใช้งบถึง 14,000 ล้านบาทนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากเป็นโครงการทางเดิน-ปั่นริมแม่น้ำ ไม่ใช่ถนนให้รถวิ่งอย่างที่เป็นข่าว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีค่าใช้จ่ายสูงเช่นนั้น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดค่าใช้จ่าย เพราะต้องรอผลการศึกษาสำรวจและออกแบบร่วมกับชุมชนทุกแห่งก่อน เพราะพื้นที่แต่ละแห่งมีความสลับซับซ้อนต่างกันไป
กำลังโหลดความคิดเห็น