ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ม.ขอนแก่นจับมือสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย เผยไทยยังคงครองอันดับ 1 ผู้ส่งออกน้ำตาลทรายในเอเชีย ระบุการผลิตอ้อยของไทยกว่าครึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน เร่งพัฒนาสายพันธุ์ทนต่อสภาพอากาศโดยรวมของไทย
วันนี้ (11 พ.ย. 58) ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พร้อมด้วย รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง สอน. กับ มข.ท่ามกลางสักขีพยาน ซึ่งประกอบด้วย นายกสมาคมชาวไร่อ้อย 16 สมาคมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมในพิธีลงนามกว่า 100 คน
นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวภายใต้กรอบระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปีจะเน้นหนักเรื่องความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สร้างบุคลากรในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย การสนับสนุนด้านสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์และห้องปฏิบัติการ
ภาพรวมทั้งประเทศไทยมีโรงงานน้ำตาลรวมกว่า 50 แห่ง แต่ละแห่งมีกำลังการผลิตมากถึงหนึ่งหมื่นตันต่อวัน ซึ่งฤดูการผลิตปี 2557/2558 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 1 ล้านไร่ ผลิตอ้อยได้ 106 ล้านต้น ในจำนวนนี้นำไปผลิตเป็นน้ำตาลสูงได้ถึง 11.3 ล้านตัน และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มตามกำลังผลิตในประเทศ 2.5 ล้านตัน ที่เหลือเป็นการส่งออกไปยังต่างประเทศ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ไทยมากถึง 180,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา
มูลค่าการส่งออกอ้อยและน้ำตาลของไทย ไทยยังคงอยู่อันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล การลงนามในข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นการต่อยอดแนวทางพัฒนาในรูปแบต่างๆ สร้างมูลค่าทางการค้าตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติก่อสร้างโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 12 แห่งและอยู่ระหว่างการยื่นขอจัดตั้งโรงงานอีกประมาณ 20 แห่ง หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนลงทุนของเอกชนจะต้องขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอีกมาก
ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาลเพื่อดำรงความเป็นผู้นำประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของเอเชียและเป็นอันดับที่ 2 ของโลก เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ด้าน รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มข. กล่าวว่า ภาคอีสานมีโครงสร้างพื้นฐานภาคการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะอ้อยมีกำลังผลิตมากถึงร้อยละ 44 ในภูมิภาค ในอนาคตจะมีโรงงานน้ำตาลเกิดขึ้นอีกมากจากที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน 19 โรงงาน ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีบทบาทสำคัญเป็นแหล่งผลิตอ้อยและน้ำตาลที่สำคัญแห่งหนึ่งของทวีปเอเชีย และของโลก
คาดว่าผลผลิตอ้อยและน้ำตาลมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่ผลิตได้ในภาคอีสานจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจประเทศเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ตามกรอบความร่วมมือดังกล่าวจะสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยเฉพาะการวิจัยสายพันธุ์อ้อยที่ทนต่อสภาพแวดล้อมและสภาพดินครอบคลุมทุกภูมิภาคของไทยอีกด้วย