xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา!! นกเป็ดแดงโผล่ ม.ขอนแก่น หลังหายไปกว่า 18 ปี คนแห่เที่ยวชม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นกเป็ดแดงกลับมาเยือนบึงสีฐานอีกครั้งในรอบ 18 ปี
นกเป็ดแดงโผล่ให้เห็นกว่าพันตัวที่บึงสีฐาน ม.ขอนแก่น นักวิชาการชี้เหตุเพราะธรรมชาติสมดุล คนแห่ส่องกล้องชมความงามของนกเป็ดแดงในยามพลบค่ำ

ในเดือนมีนาคม 2559 มีรายงานพบนกเป็ดแดงอาศัยบริเวณบึงสีฐานมหาวิทยาลัยขอนแก่นกว่าพันตัว หลังนกอพยพชนิดนี้ไม่ปรากฏตัวในบริเวณดังกล่าวกว่า 18 ปีเต็ม ซึ่งการหวนคืนของนกเป็ดแดงครั้งนี้นับเป็นข้อบ่งชี้ถึงพื้นที่อุดมสมบูรณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างความปลาบปลื้มใจให้ประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่นอย่างยิ่ง กระทั่งเกิดปรากฏการณ์นักส่องนกและประชาชนแห่ชมความงามของนกเป็ดแดงยามพลบค่ำ ทำให้บึงสีฐานมหาวิทยาลัยขอนแก่นกลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งใหม่ สอดคล้องกับนโยบาย Green and Smart Campus เป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาดและคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง
นกเป็ดแดงในกอบัว
ผศ.ดร.ศรัณย์ เกียรติมาลีสถิตย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในเส้นทางการบินอพยพเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย (East Asian-Australasian Flyway: EAAF) ในทุกฤดูหนาวราวเดือนตุลาคมถึงพฤษภาคม จึงมีนกหลายแสนตัวอพยพข้ามมหาสมุทรและแผ่นดินใหญ่เป็นระยะทางไกลหลายพันกิโลเมตร เข้ามาอาศัยในประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ยังมีความปลอดภัย การอพยพย้ายถิ่นของนกเกิดขึ้นเป็นวัฎจักรทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือหาแหล่งอาหารสมบูรณ์และพื้นที่เหมาะสมสำหรับวางไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน เมื่อซีกโลกทางเหนือเข้าสู่ฤดูหนาวนกก็จะอพยพเคลื่อนย้ายลงไปยังซีกโลกทางใต้ เมื่อถึงฤดูร้อนก็อพยพกลับไปยังถิ่นเดิม เพื่อสร้างรังวางไข่เลี้ยงลูกนกให้เติบโตแข็งแรง นกจึงเปรียบเสมือนดัชนีบ่งชี้คุณภาพความสมบูรณ์ของทรัพยากรชีวภาพ บริเวณใดที่มีนกอพยพอาศัยหากินอยู่เป็นจำนวนมาก ย่อมหมายถึงพื้นที่นั้นมีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้วย
นกเป็ดแดงลอยคอในบึงสีฐาน
“ย้อนไปเมื่อ 18 ปีก่อนบริเวณบึงสีฐานมีความอุดมสมบูรณ์มากและมักมีนกเป็ดแดงอพยพมาอยู่อาศัยเป็นประจำทุกปี กระทั่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นจำเป็นต้องปรับโครงสร้างพื้นที่ ซึ่งอาจรบกวนฝูงนกเป็ดแดงทำให้ไม่เลือกอพยพลงบึงสีฐานเป็นเวลานาน แต่ยังเลือกบริเวณพื้นที่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแหล่งพักอาศัย เช่น บ่อบำบัดน้ำเสีย และบ่อประมง กระทั่งในปีนี้ (2559) มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ปลูกต้นไม้ริมบึงสีฐาน เพิ่มพื้นที่สีเขียว นำจอกแหนออก จัดระเบียบต้นธูปฤาษี ปลูกบัวหลวงสีชมพูเพิ่มรวมกันเป็นกอบัวขนาดใหญ่ ซึ่งนกเป็ดแดงจะอาศัยกินพืชและสัตว์ใต้น้ำ เช่น สาหร่าย พืชน้ำ ปลา หอย และแมลงน้ำ เป็นอาหาร ทำให้นกเป็ดแดงเลือกอพยพกลับมาอาศัยที่บึงสีฐานอีกครั้งในรอบเกือบ 20 ปี คาดการณ์ว่าจะอพยพกลับคืนผ่านไปยังประเทศรัสเซียฝั่งตะวันออก แถวไซบีเรียเพื่อทำรังวางไข่ราวต้นเดือนเมษายนนี้” ผศ.ดร.ศรัณย์ กล่าว

จากการที่นกเป็ดแดงอพยพปรากฏพบในบริเวณดังกล่าวในรอบ 18 ปี ข้อค้นพบนี้นับเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าบึงสีฐานมีความอุดมสมบูรณ์ บวกกับการปรับภูมิทัศน์ที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตจึงทำให้นกเป็ดแดงเลือกอพยพมายังบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ โดยการควบคุมประชากรหนอนแมลง ตั๊กแตนและศัตรูพืช มีประโยชน์แก่ชาวไร่ชาวสวน และปลุกให้เกิดบรรยากาศการชมนกริมบึงสีฐานกระตุ้นให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้บึงสีฐานกลายเป็นพื้นที่งดงามอีกครั้ง
ภาพนกเป็ดแดงในปี 2534
ผู้สนใจสามารถชมนกเป็ดแดงด้วยตาเปล่าได้บริเวณริมบึงสีฐานฝั่งตะวันออกเวลา ตั้งแต่วันนี้ถึงต้นเดือนเมษายนก่อนที่นกเป็ดแดงจะอพยพกลับคืนไปยังประเทศรัสเซียฝั่งตะวันออก แถวไซบีเรียเพื่อผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ราวต้นเดือนเมษายนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น