xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ - คลัง เห็นพ้องดึงแบงก์รัฐเป็นแหล่งทุนรับซื้อยาง 1 แสนตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสถาบันการเงินของรัฐ ทั้งธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อพิจาณาแนวทางการนำยางพาราแปรรูปทางอุตสาหกรรม โดยที่ประชุมเห็นชอบ 3 มาตรการ ประกอบด้วย ให้แบงก์รัฐ ได้แก่ ธ.ก.ส.และธนาคารออมสิน เป็นแหล่งเงินกู้ให้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ด้วยการคิดอัตราดอกเบี้ยละ 0 รองรับความต้องการใช้ยางผลิตสินค้าประเภทต่างๆของ 8 ส่วนราชการ ปริมาณ 1 แสนตัน โดยต้องการชดเชยต้นทุนทางการเงินเท่ากับต้นทุนเงินฝากร้อยละ 2 จึงต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ใช้เงินทุนรองรับการซื้อยาง 1 แสนตัน ประมาณ 4,500 ล้านบาท เนื่องจากกำหนดราคารับซื้อเบื้องต้นกิโลกรัมละ 45 บาท

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมสั่งการให้แบงก์รัฐ 4 แห่ง ประกอบด้วย ธ.ก.ส. ออมสิน กรุงไทย เอสเอ็มอีแบงก์ ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เอกชนผู้มีสัญญาจ้างจากส่วนราชการ นำมาใช้เป็นหลักประกันการกู้เงิน

นอกจากนี้ การส่งเสริมให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อให้เอกชนรับซื้อยางมาเก็บไว้ในสตอกเพิ่มเติม เพื่อดึงราคาให้สูงขึ้น จากเดิมรับซื้อเฉพาะน้ำยางข้น เพิ่มเป็นยางแผ่น ยางแท่ง เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำยางข้นสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของตลาดโลก สำหรับการผลิตสินค้าประเภทต่างๆ จึงมีความสำคัญมากในอนาคต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การผลิตที่นอน หมอน จะใช้น้ำยางข้นในการผลิต จึงต้องการให้แบงก์รัฐมาร่วมปล่อยกู้ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนให้กับโรงงานอุตสาหกรรม หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าผลักดันการตั้งโรงงาน เปิดโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 79 แห่งภายในปี 2559 หากตั้งโรงงานครบทั้งหมดปีนี้จะรับซื้อยางพาราประมาณ 870,000 ตัน จึงต้องการส่งเสริมให้เอกชนรับซื้อยางพาราในตลาดสตอกไว้เพิ่มเติม เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยางล้อรถยนต์ การผลิตถุงมือยางเนื่องจากตลาดโลกต้องการใช้ถุงมือยางสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 และต้องส่งเสริมการส่งออกล้อยางในอาเซียนเพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น