xs
xsm
sm
md
lg

แนะ‘บิ๊กตู่’ปีหน้าโลกขาดแคลน หยุดเทขายยางในสต็อกดันราคา 70 บาท/กก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิสุทธิ์ นิติยารมย์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานองค์กรเกษตรกรรายย่อยภาคใต้ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านยางพารา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ถึงสถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำในขณะนี้เหลือแค่กิโลกรัมละประมาณ 32 บาท ว่า ปัจจุบันยางพาราไทยตกต่ำสุดแล้ว และพอที่จะขยับราคาขึ้นได้ เพราะผลผลิตยางพาราในเมืองไทยมีน้อย โดยเฉพาะในภาคใต้ และคาดว่าปีนี้ทั่วประเทศจะมีผลผลิตไม่ถึง 4 ล้านตัน ด้วยสาเหตุเกษตรกรโค่นไม้ยางขายจำนวนมาก ,แรงงานต่างด้าวผู้กรีดยางกลับภูมิลำเนาเดิม พื้นที่ปลูกยางพาราที่รุกป่าสงวนที่ผิดกฎหมายก็ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติไปจัดการเรียกคืนผืนป่าโค่นทำลายไปจำนวนมาก

กระนั้นก็ตาม เพียงแต่ว่าขณะนี้อยู่ในช่วงจังหวะที่ยางในสต๊อกของรัฐยังมีอยู่มากจน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าสต๊อกยางของภาคเอกชนก็มีมากเช่นกัน แต่ข้อเท็จจริงนั้นพบว่าสต๊อกยางของเอกชนขาดแคลน จึงพยายามหาช่องทางเข้าไปซื้อยางในสต๊อกของรัฐบาลในราคาถูก เพื่อส่งไปขายต่างประเทศตามที่ มีการซื้อขายไปล่วงหน้า

“ ถ้ารัฐบาลไม่ขายยางในสต๊อก แล้วเก็บไว้ขายปีหน้ารับรองราคายางพุ่งไปที่กิโลกรัมละ 70 บาทแน่นอน”นายวิสุทธิ์ แสดงความมั่นใจ และ ยังมองภาพจากภายนอกประเทศที่คาดการว่า ภายใน 2 ปีข้างหน้ายางพาราจะขาดแคลนแทบทั่วโลก เพราะทุกประเทศลดพื้นที่ปลูกยาง แต่ทั่วโลกก็ใช้ยางเท่าเดิม

“ยางพาราไม่เหมือนน้ำมันหรือแก๊สที่สามารถดูดได้ทุกเวลา แต่ยางพาราต้องปลูก ต้องใช้เวลา7 ปี ถึงจะกรีดได้ สิ่งนี้ถ้ารัฐบาลคิดออกก็ไม่ควรจะขายยางในสต๊อก”

ส่วนที่ต่างประเทศค้นพบการใช้น้ำยางจากต้นหญ้าชนิดหนึ่งแทนยางพารานั้น นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องตลก อย่าไปกังวลเพราะถ้าเขาทำได้ และคุ้มทุนเขาคงเอามาใช้นานแล้ว ที่สำคัญขณะนี้รัฐบาลจีนได้ลดภาษีรถยนต์ประเภทประหยัดพลังงาน ที่ใช้ภายในประเทศเหลือแค่ 5 เปอร์เซ็น ทำให้จีนต้องผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น20เปอร์เซ็นและ ต้องใช้ยางมากกว่าเดิม ซึ่งก็ต้องเป็นยางจากประเทศไทยโดยเฉพาะจากภาคใต้

ผู้สื่อข่าวถามช่องทางที่จะทำให้ราคายางปรับขึ้นในตอนนี้ได้อย่างไรบ้าง อดีตผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานองค์กรเกษตรกรรายย่อยภาคใต้ กล่าวว่า รัฐบาลต้องส่งสัญญาณ ประกาศให้ชัดทันทีว่า ว่าไม่ขายยางในสต๊อก อยากขอร้องให้รัฐบาลประกาศออกมา เพื่อบังคับให้ราคายางขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะภาคเอกชนไม่มียางแล้ว เขาก็ต้องไปกว้านซื้อยางจากเกษตรกร ไม่สามารถรวมกลุ่มกันกดราคาได้เหมือนในอดีต

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ปีหน้าแห้งแล้ง ลุกลามไปถึงภาคเหนือ อีสาน ไปถึงจีน กระทบต่อการผลิตยางพารา ปริมาณยางก็น้อยลงไปอีก เหลือแต่ภาคใต้ที่ยังพอประทังได้บ้าง รัฐบาลควรวางแผนให้ดี ภาคเอกชนก็ต้องเตรียมไว้ ที่สำคัญในขณะนี้ช่องทางที่จะช่วยเกษตรกร เบื้องต้น คือ รัฐบาลก็ควรเปิดโอกาสให้มีการรับจำนำยางพารารายย่อยที่รวมกลุ่ม โดยเก็บยางไว้ที่กลุ่มเกษตรกรเอง เมื่อราคายางเพิ่มขึ้นตามที่เกษตรกรพอใจจึงค่อย ขายออก แล้วคืนวงเงินจำนำให้กับรัฐบาลและส่วนต่างที่เพิ่มเกษตรกรก็รับเอาไป แนวทางนี้ก็พอจะช่วยได้

ขณะเดียวกันรัฐบางต้องปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้ผู้ประกอบการรับซื้อยางรายย่อยเพื่อซื้อยางเข้าเก็บในสต๊อกเท่านั้นไม่ใช่กู้ไปเพื่อทำธุรกรรมซื้อขายยางล่วงหน้ากับต่างประเทศ

“น่าเสียดายที่ไทยปลูกยางเป็นอันดับ1ของโลก ผลิตยาง 4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ทั่วโลกต้องใช้ยางปีละ 12 ล้านตัน และเราเป็นประเทศที่มียางแผ่นที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ที่ประเทศอื่นผลิตไม่ได้ และเป็นที่ต้องการของตลาดโลกโดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นที่ต้องการยางแผ่นไปทำรถยนต์ ในขณะที่อินโดนีเซียมาเลเซียผลิตเป็นยางแท่งซึ่ง มีคุณภาพด้อยกว่ายางแผ่นมาก แต่เรากลับไม่สามารถใช้ศักยภาพตัวนี้มากำหนดราคายางได้ ถ้ารัฐบาลเห็นศักยภาพในการผลิตยางแผ่นของประเทศไทยแล้ว เราสามารถกำหนดราคายางแผ่นรมควันให้สูงกว่าประเทศอื่นได้ถึง 10 เปอร์เซ็น”นายวิสุทธิ์ ระบุทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น