xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าต่อทางด่วน”บางปะหัน”ลงทุน 3 หมื่นล. ระบายรถช่วงเทศกาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยว่า จากการที่กทพ.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจ การเงินและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นการต่อแนวเส้นทางจากทางพิเศษอุดรรัถยา(บางปะอิน-ปากเกร็ด) ขึ้นไปทางทิศเหนือไปสิ้นสุดทางเชื่อมกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ที่อ.บางปะหันจ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทางรวมประมาณ 42 กิโลเมตร ซึ่งการศึกษาโครงการจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ค.58 นี้

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการทางพิเศษสายดังกล่าวกทพ.จึงได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นเพื่อศึกษารูปแบบการลงทุนตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ.2556 และ กทพ.จะทดสอบความสนใจของนักลงทุน(MarketSounding) และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการจากผู้สนใจ ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าวเป็นไปตามกรอบการดำเนินการโครงการที่จะต้องมีขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการจากผู้สนใจก่อนที่จะมีการขออนุมัติโครงการไปยังรัฐบาลต่อไป เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจหาแนวทางลงทุนที่เหมาะสมซึ่งกทพ.กำหนดให้ส่งข้อคิดเห็นมายังกทพ.ภายในวันที่ 24 เม.ย.นี้

สำหรับทางพิเศษสายดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อกับทางพิเศษอุดรรัถยาที่ อำเภอบางไทร หลังจากนั้นทิศทางมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อ้อมด้านหลังสถานีตำรวจภูธรบางปะอิน สาขาเชียงรากน้อยแล้วขนานกับทางหลวงหมายเลข347 แนวสายทางจะ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณตำบลเกาะเกิด จากนั้นจะมุ่งขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทางหลวง347 อยู่ห่างประมาณ 1 – 2.50 กิโลเมตร ตัดผ่านถนนและทางหลวงสายสำคัญคือ ทางหลวงหมายเลข 3263, 3412, 309 และสาย 329 มีทางขึ้นลงตลอดเส้นทาง 8 จุด คือ 1.ทางขึ้นลงบางปะอิน (จุดเริ่มต้นโครงการ) 2. วงแหวนกาญจนาภิเษก 3.ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร 4.ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด 5.บ้านกลึง 6.วรเชษฐ์ 7.พุทเลา และ 8. บางปะหัน (จุดสิ้นสุดโครงการ) ซึ่งสำหรับผู้ที่จะเดินทางขึ้นสู่ภาคเหนือจะสามารถใช้ระบบทางด่วนสายใหม่นี้ต่อเชื่อมจากทางด่วนที่มีอยู่ในใจกลางกรุงเทพฯออกสู่ถนนสายเอเชียที่บริเวณบางปะหันได้เลย ซึ่งจะได้รับความสะดวกรวดเร็วเป็นทางเลือกในการเดินทางอีกเส้นทางหนึ่ง

ทั้งนี้โครงการฯมีค่าใช้จ่ายการลงทุนโครงการรวมประมาณ 31,432.51 ล้านบาท เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2,766.51 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง(รวมค่าออกแบบรายละเอียดและค่าควบคุมงาน) 28,666 ล้านบาท โดยมีขอบเขตการลงทุนโดยเอกชนลงทุนการออกแบบก่อส้าง การบริหารจัดการบำรุงรักษาทาง และมีสิทธิได้รับรายได้จากค่าผ่านทางในเส้นทางดังกล่าวในระยะเวลา 30 ปี ในลักษณะการแบ่งผลตอบแทนให้แก่รัฐตามที่ได้ตกลงกัน ซึ่งรัฐจะสนับสนุนค่าจัดกรรมสิทธิที่ดินในโครงการพร้อมอำนวยความสะดวกในการประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

โดยทางพิเศษสายดังกล่าวก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร มีทางขึ้นลง 8 จุด โดยได้มีการศึกษาอัตราค่าโดยสารจัดเก็บในระบบปิดแบ่งเป็นรถ 4 ล้อ ค่าแรกเข้า 35 บาทต่อไปเก็บ 0.50 บาทต่อกิโลเมตร สูงสุดที่ 55 บาท รถ 6– 10 ล้อ ค่าแรกเข้า 70 บาทต่อไปเก็บ 1 บาทต่อกิโลเมตร สูงสุดที่ 110 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ ค่าแรกเข้า 105 บาท ต่อไปเก็บ 1.50 บาทต่อกิโลเมตร สูงสุดที่ 165บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น