xs
xsm
sm
md
lg

จับตาญี่ปุ่นระลึกประวัติศาสตร์ เน้นเอาใจมะกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อถึงวาระที่ต้องกล่าวคำปราศรัยเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า สิ่งที่อยู่ในใจนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น น่าจะเป็นปฏิกิริยาจากมหามิตรอเมริกา มากกว่าความรู้สึกของชาติเพื่อนบ้านในเอเชียที่ทุกข์ทรมานจากการรุกรานทางทหารของกองทัพแดนอาทิตย์อุทัยในอดีต

ถึงแม้เจ้าหน้าที่อเมริกันมีความยินดีที่นายกรัฐมนตรีอาเบะ ดำเนินการผลักดันเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมทั้งทำให้การแสดงบทบาทของญี่ปุ่นในเรื่องความมั่นคงของโลก ถูกจำกัดมัดมือมัดเท้าลดน้อยลงจากรัฐธรรมนูญฉบับใฝ่สันติ ซึ่งอเมริกาเองเป็นผู้ร่างให้ญี่ปุ่นใช้ตอนเข้ายึดครองแดนอาทิตย์อุทัยหลังสิ้นสุดมหาสงครามเมื่อ 70 ปีก่อน แต่ขณะเดียวกัน วอชิงตันก็แสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่ต้องการเห็นอาเบะก่อกวนสร้างความตึงเครียดขึ้นในภูมิภาคด้วยการแสดงความคิดเห็นที่นำไปสู่การตีความว่า โตเกียวพยายามชำระแก้ไขบิดเบือนประวัติศาสตร์

อาเบะซึ่งเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยมที่มีแนวคิดแบบชาตินิยมจัดนั้น มีความปรารถนาที่จะให้ญี่ปุ่นแสดงจุดยืนซึ่งลดระดับการแสดงความเสียใจต่อพฤติกรรมที่กระทำไปในช่วงมหาสงคราม และก่อนหน้านี้ได้เคยแสดงท่าทีไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแถลงขอโทษขออภัยอย่างเป็นทางการครั้งต่างๆ ของแดนอาทิตย์อุทัย ในจำนวนนี้ก็รวมถึงคำแถลงครั้งประวัติศาสตร์ของ โทมิอิชิ มุรายะมะ นายกรัฐมนตรีในปี 1995 และโยเฮอิ โคโนะ โฆษกรัฐบาลในปี 1993 เกี่ยวกับ “สตรีบำเรอกาม” ที่ถูกบังคับให้ทำงานในซ่องทหารญี่ปุ่นในช่วงสงคราม

ในระยะหลังๆ นี้ อาเบะดูมีท่าทีอ่อนลงบ้าง โดยบอกว่าเขามีความมุ่งมั่นที่จะยึดถือคำแถลงเหล่านั้น แต่ขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณว่า ในการปราศรัยเนื่องในวาระครบรอบ 7 ทศวรรษแห่งการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปลายเดือนสิงหาคมนี้ เขาต้องการที่จะกล่าวคำพูดอันแสดงถึงการก้าวผ่านอดีตและมุ่งสู่อนาคต

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ทางเลือกหนึ่งคือ อาเบะกล่าวรับรองคำขอโทษขออภัยของรัฐบาลในอดีต แต่จะไม่เอ่ยถ้อยคำหลักๆ ที่ชาวจีนและเกาหลีใต้จำนวนมากต้องการได้ยินซ้ำ เช่น “การปกครองแบบอาณานิคมและการรุกราน” และ “การขออภัยอย่างจริงใจ”

สก็อตต์ แฮโรลด์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์เพื่อนโยบายเอเชีย-แปซิฟิก แห่ง บรรษัท แลนด์ คอร์เปอเรชั่น กลุ่มคลังสมองในอเมริกา ให้ความเห็นว่า ถ้ายุทธศาสตร์ของอาเบะคือต้องการก้าวข้ามประเด็นปัญหานี้และมุ่งโฟกัสที่อนาคต เขาก็อาจทำได้เพียงด้วยการกล่าวยอมรับสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นชุดก่อนๆ เคยพูดเอาไว้ เมื่อได้ทำเช่นนี้แล้ว ถึงแม้จีนหรือเกาหลีใต้อาจจะยังไม่พอใจ แต่ก็จะไม่เป็นที่ใส่ใจของประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ตลอดจนอเมริกา
กำลังโหลดความคิดเห็น