xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สั่ง50จังหวัด เฝ้าระวัง“โคโรน่าไวรัส 2012”หลังกลับพิธีฮัจญ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ 2012 หรือเมอร์ส -โควี ( Middle East Respiratory Syndrome Corona Virus : MERS – CoV ) ว่า โรคนี้เป็นโรคทางเดินหายใจใหม่ที่มีอาการรุนแรง ไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาเฉพาะ มีแหล่งเกิดโรคที่ประเทศในตะวันออกกลาง มากที่สุดที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งไทยมีความเสี่ยงอาจพบผู้ติดเชื้อ เนื่องจากการเดินทาง โดยเฉพาะช่วงประกอบพิธีฮัจญ์ ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีชาวมุสลิมทั่วโลกเดินทางร่วมพิธีประมาณ 2 ล้านคน ในช่วงวันที่ 26 ก.ย. 2557 ถึง 8 ต.ค. 2557 ปีนี้มีชาวไทยมุสลิมเดินทางเข้าร่วม 10,199 คน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบดูแลสุขภาพตั้งแต่ก่อนเดินทางจนถึงหลังจากกลับประเทศ โดยขึ้นทะเบียนรายชื่อ ที่อยู่ทุกราย

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ผู้เข้าร่วมพิธีฮัจญ์ได้ทยอยเดินทางกลับมาประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2557 เป็นต้นมา เที่ยวสุดท้ายจะถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 รวมทั้งหมด 88 เที่ยวบิน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบการเฝ้าระวังป้องกันโรค โดยจัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดไข้หลังลงเครื่อง ที่สนามบิน 4 แห่งคือที่สุวรรณภูมิ หาดใหญ่ ภูเก็ต และนราธิวาส และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ที่มีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปจำนวน 50 จังหวัด เฝ้าระวังอาการป่วยในชุมชนคือที่บ้านของผู้เดินทาง ติดต่อกัน 30 วัน หากพบรายใดมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ให้รับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ทันที และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาติดเชื้อทุกราย

ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ขณะนี้ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดนราธิวาส เดินทางกลับมาครบแล้วจำนวน 576 คน ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม2557 ผลการเฝ้าระวังพบผู้ที่มีอาการป่วยอยู่ในข่ายเฝ้าระวังโคโรน่าไวรัส คือมีไข้ 38 องศาเซลเซียส ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก ปอดอักเสบร่วมด้วย จำนวน 2 ราย แพทย์รับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ดูแลมาตรฐานเดียวกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงหรือโรคซาร์ส เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และส่งเสมหะตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จังหวัดสงขลา ผลการตรวจพบว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่โคโรน่าไวรัส และไม่ได้เป็นผู้ป่วยในข่ายสงสัยโรคอีโบลาแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ไม่มีประวัติเดินทางไปพื้นที่ระบาดโรคอีโบลาคือที่5 ประเทศอาฟริกาตะวันตก แต่เดินทางมาจากพื้นที่ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ไม่ใช่พื้นที่ระบาดโรคอีโบลา

สำหรับสถานการณ์ของโรคโคโรน่าไวรัส กระทรวงสาธารณสุข ประเทศซาอุดิอาระเบียรายงานถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2557 พบผู้ป่วย 760 ราย เสียชีวิต 324 ราย เฉพาะในเดือนกันยายน - ตุลาคม 2557 พบผู้ป่วยยืนยันรวม 18 ราย และมีผู้ป่วยอย่างน้อย 2 รายไม่มีประวัติสัมผัสโรคที่ชัดเจน คือไม่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยรายอื่นๆ ไม่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และไม่ได้สัมผัสสัตว์ สถานการณ์การระบาดในแถบตะวันออกกลาง ใน พ.ศ. 2556 -2557 เกิดขึ้น 2 ช่วงของปี คือ เดือนเมษายน - มิถุนายน และ สิงหาคม- กันยายน ขณะนี้จึงอาจถือได้ว่าเข้าสู่ฤดูกาลระบาดของโรค ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักเป็นผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว โดยประเทศซาอุดิอาระเบียมีการคัดกรองผู้ป่วยที่สนามบินตอนขาเข้าประเทศ แต่ไม่มีการคัดกรองซ้ำขณะเข้าร่วมพิธีฮัจจ์ มีเพียงคำแนะนำเท่านั้น

นายแพทย์โสภณกล่าวต่ออีกว่า โรคโคโรน่าไวรัส หลังติดเชื้อประมาณ 14 วัน จะปรากฏอาการ เริ่มต้นจะคล้ายไข้หวัดทั่วไปคือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก บางรายอาจท้องเสียร่วมด้วย โดยเชื้อไวรัสจะลุกลามลงสู่ปอดอย่างรวดเร็ว คล้ายโรคซาร์ส จึงขอแนะนำประชาชนที่เดินทางกลับจากตะวันออกกลาง หรือกลับจากร่วมพิธีฮัจญ์ หาก มีอาการดังที่กล่าวมา ขอให้คาดหน้ากากอนามัย เนื่องจากโรคนี้ติดต่อกันได้จากการไอจาม สัมผัสน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย และรีบพบแพทย์ที่อยู่ใกล้บ้านทันที เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและเพิ่มความปลอดภัย ส่วนผู้ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ขอให้ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น