xs
xsm
sm
md
lg

อย่าตื่นอีโบลา! มีระบบติดตามแอฟริกันเข้าไทย 21 วัน ย้ำระยะฟักตัวไม่แพร่เชื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตระหนกอีโบลาเกินเหตุ! คร.ชี้ WHO ระบุควบคุมไม่ได้ใน 3 ประเทศระบาด แค่ส่งสัญญาณให้ประเทศอื่นระดมความช่วยเหลือ ย้ำโอกาสมาไทยน้อย เหตุประเทศต้นทางควบคุมคนออกนอกประเทศ ส่วนไทยเฝ้าติดตามคนแอฟริกาเข้าประเทศ 21 วันตามระยะฟักตัวของโรค อย่ากังวลแพร่เชื้อผ่านการมีเซ็กซ์ เหตุระยะฟักตัวยังไม่มีอาการ ไม่แพร่เชื้อ เผยควรเฝ้าระวังเมอร์ส-โควีมากกว่า

จากกรณีข่าวองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนวิกฤตโรคอีโบลาว่าการแพร่ระบาดกำลังเกินการควบคุม และมีความเสี่ยงลุกลามสู่ประเทศอื่นๆ นั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ที่ WHO ออกมาเตือนนั้น หมายถึงไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาใน 3 ประเทศของทวีปแอฟริกา คือ กินี ไลบีเรีย และ เซียร์ราลีโอน แต่ไม่ได้หมายถึงประเทศอื่นๆ โดยการเตือนดังกล่าวเพื่อต้องการระดมความช่วยเหลือและเงินทุนในการลงไปช่วยควบคุมโรค ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 11 ประเทศโดยรอบเข้าไปช่วยเหลือแล้ว

"สำหรับประเทศไทยถือว่าอยู่ห่างไกล และโอกาสแพร่ระบาดของโรคมีน้อย แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งกรมควบคุมโรคก็เฝ้าระวังตลอด แต่กรณีนี้ไม่ได้น่ากังวลขนาดโรคซาร์ส หรือไข้หวัดนก เนื่องจากเชื้ออีโบลาไม่ได้ติดทางเดินหายใจ แต่ติดทางสารคัดหลั่ง เลือด การแพร่เชื้อเหมือนเชื้อไวรัสเอชไอวี หากพบโรคก็สามารถควบคุมได้" รองอธิบดี คร. กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการติดตามนักเดินทางจาก 3 ประเทศที่มีการระบาดพบว่า มีเดินทางมาไทยเมื่อวันที่ 31 ก.ค. จำนวน 1 คน และวันที่ 1 ส.ค. อีก 4 คน จากการสอบถามประวัติและอาการต่างๆ ไม่พบผิดปกติ ยังมีสุขภาพดี แต่ได้เข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังติดตามอาการไปอีก 21 วัน เนื่องจากระยะการฟักตัวของโรคอยู่ในช่วง 2-21 วัน ซึ่งระยะการฟักตัวของโรคนี้จะไม่มีการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ดังนั้น ความกังวลเรื่องระหว่างการรอแสดงอาการแล้วไปมีเพศสัมพันธ์กับคนไทยแล้วทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากมาก ส่วนระยะการแพร่เชื้อจะเป็นช่วงที่มีอาการเด่นชัดและอาการหนักแล้ว คือ อาเจียน ท้องเสีย มีผื่นนูนแดงตามตัว เกิดภาวะติดเชื้อ และทำให้เกิดอาการเลือดออกทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย เป็นต้น

"ขณะนี้ 3 ประเทศที่มีการระบาดเริ่มมีมาตรการควบคุมประชากรในการออกนอกประเทศแล้ว ดังนั้น เมื่อประเมินความเสี่ยงโอกาสเกิดการระบาดในไทยจึงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่วนคนไทยที่จะเดินทางไป 3 ประเทศนี้กระทรวงการต่างประเทศเตือนว่า ควรหลีกเลี่ยงหากไม่จำเป็น ขณะเดียวกันโอกาสที่เชื้ออาจจะเข้ามาได้จากการนำเข้าสัตว์ป่าจากแอฟริกา ไม่พบการนำเข้าและขณะนี้กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญโรคนี้ไม่ติดต่อด้วยพาหะเหล่านี้ แต่ติดต่อจากคนสู่คนเหมือนเชื้อเอชไอวี/เอดส์" รองอธิบดี คร. กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระแสความกังวลเรื่องโรคอีโบลามีสูง แต่ไม่อยากให้ละเลยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2012 หรือโรคเมอร์ส-โควี เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อได้ทางเดินหายใจ และมีความรุนแรงสูง ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาเฉพาะ พบในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งแม้ไทยจะยังไม่พบผู้ป่วย แต่มีโอกาสเสี่ยงจากการเดินทางไปท่องเที่ยว ประกอบธุรกิจ หรือประกอบศาสนกิจในพื้นที่ที่มีการระบาด ซึ่ง ก.ย.นี้จะมีชาวไทยมุสลิมกว่า 10,000 คนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดย สธ.มีมาตรการดูแล 3 ระยะคือ ก่อนเดินทาง ระหว่างประกอบพิธี และหลังเดินทางกลับ โดยได้ให้บริการตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และไข้กาฬหลังแอ่น ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ แจกเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย รวมทั้งส่งหน่วยแพทย์พยาบาลไทยไปให้การดูแลรักษาที่ซาอุดิอาระเบีย และวางระบบการเฝ้าระวังโรค ติดตามหลังเดินทางกลับเป็นเวลา 15 วัน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น