xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.หนุนใช้เงินหยวนทำการค้าช่วยลดต้นทุนประกันความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนาคารแห่งประเทศไทยสนับสนุนใช้สกุลเงินหยวนทำการค้าระหว่างไทยกับจีน เชื่อช่วยลดต้นทุนในการทำประกันความเสี่ยง และเป็นการขยายลู่ทางในการทำตลาด ระบุมีค่าความผันผวนน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่าการที่ธปท.สนับสนุนให้ มีการใช้สกุลเงินหยวนสำหรับการค้าการ และลงทุนมากขึ้น มากกว่าการพึ่งพาสกุลเงินหลักเพียงอย่างเดียว เพราะเชื่อว่าประโยชน์ในการใช้เงินหยวนจากการสอบถามผู้ประกอบการบริษัทของไทย พบว่าคู่ค้าสามารถลดต้นทุนทางธุรกิจได้ เนื่องจากค่าเงินหยวนในปัจจุบันมีความผันผวนน้อย ทำให้คู่ค้าสามารถลดความเสี่ยงจากการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) ได้จากการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน

“การใช้เงินหยวนในการทำการค้ายังเป็นเรื่องการขยายลู่ทางการค้า และเปิดโอกาสให้มีการขยายตลาด หรือกลุ่มลูกค้าใหม่ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีในจีนซึ่งอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับการทำประกันความเสี่ยงต่างๆได้มีโอกาสที่จะขายเป็นเงินหยวน โดยเปรียบเสมือนกับการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พ่อค้าแม่ค้าตามชายแดนก็ไม่มีความน่าเป็นห่วงเพราะมีการซื้อขายกันโดยใช้เงินบาท”

นอกจากนี้ หากเทียบความผันผวนของค่าเงินหยวน ในปัจจุบัน พบค่ามีค่าความผันผวนค่อนข้างต่ำ โดยค่าความผันผวนเงินหยวนหากเทียบกับเงินบาทจะอยู่เพียง 0.5 % ซึ่งมีความผันผวนน้อยกว่า หากเทียบกับค่าความผันผวนของเงินบาทหากเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ หรือยูโรที่มีค่าความผันผวนอยู่ที่ 3 % อีกทั้งจากการประเมินค่าความผันผวน และค่าเงินหยวน ยังพบว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนสอดคล้องกันกับค่าเงินในภูมิภาค ดังนั้นแม้เงินหยวนจะมีบทบาทสำหรับเศรษฐกิจมากขึ้นแต่ก็เชื่อว่า ค่าเงินหยวนก็ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาคอยู่

ขณะที่ไทยเองก็มีความสัมพันธ์กับจีนทางการค้าการลงทุนต่อเนื่อง ดังนั้นค่าเงินก็น่าจะสอดคล้องกัน ซึ่งอาจต่างบ้าง แต่ก็อาจมาจากเหตุการณ์เฉพาะของประเทศนั้นๆ หรือภาวะสถานการณ์แตกต่างกันในบางช่วงเวลา อย่างเช่นวันที่ 17กรกฎาคม 57 ที่มีประเด็น เครื่องบินตกที่ยูเครน ก็สร้างความตื่นตะหนกให้กับนักลงทุน นักลงทุนก็จะหันไปหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่นเงินเยน ดังนั้นเงินเยน ก็จะแข็งเร็ว ขณะที่สกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค รวมถึงไทยเคลื่อนไหวค่อนข้างทรงตัว

นางจันทวรรณ กล่าวต่อไปอีกว่า อีกเหตุผลที่มองว่าแนวโน้มค่าเงินหยวนยังไม่ผันผวนมากนั้น ส่วนหนึ่งมาจากปริมาณการทำธุรกรรมต่างๆในปัจจุบันยังไม่ได้เยอะมาก ดังนั้น ก็ยังไม่ได้สร้างความผันผวนมากนัก นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าจีนจะเปิดให้มีการใช้เงินหยวนเข้ามามีบทบาทสำหรับการค้าการลงทุนมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เปิด ให้มีการซื้อขายเงินตราอย่างเสรีเหมือนอย่างสกุลเงินหลัก แต่ยังคงต้องอิงกับพื้นฐานการค้าการลงทุน การซื้อสินค้าต่างๆ ตามการลงทุนที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นการซื้อขายสินค้าต่างๆจึงต้องมีการทำสัญญาทางการค้ารองรับ ดังนั้นแนวโน้มเงินหยวนจึงน่าจะเป็นสกุลเงินที่ไม่ผันผวนนัก หากเทียบสกุลเงินหลัก เพราะมีธุรกรรมรองรับทุกประเภท ซึ่งรองรับการซื้อขายเงินตราที่เกิดขึ้น

“หากจะลงทุนในจีน ก็ต้องมีการออกบอนด์ เพื่อไปซื้อโรงงาน ขยายกิจการจริงไม่ใช่ว่า ซื้อเงินได้เสรี แล้วก็ขาย อย่างนั้นจีนไม่อนุญาต ดังนั้นความผันผวนที่เกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนเวลาเข้าเร็วก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะคนเราหากลงทุนตั้งโรงงานไปแล้ว ก็จะไม่ได้ขายเร็วเพื่อจะถอนเงินจากจีน ดังนั้น การเปิดให้ใช้สกลุเงินหยวนครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เสรีซะทีเดียว และอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด”

นางจันวรรณ กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่ทางการจีนมีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้นในการผลักดันเงินหยวนขึ้นเป็นสกุลเงินสากลของโลก ทำให้ ธปท. ต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องในวงการตลาดเงินไทยมาหารือเพื่อทำความเข้าใจและเล่าถึงประสบการณ์การใช้เงินหยวน โดยการใช้เงินหยวนในการค้าขายระหว่างไทยกับจีนแม้ปัจจุบันจะมีสัดส่วนเพียง 1% แต่นับเป็นการเพิ่มขึ้นที่ค่อนข้างรวดเร็ว

“สัดส่วนธุรกรรมค้าขายกับจีนที่ชำระด้วยเงินหยวนแม้จะยังไม่มาก แต่ก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันเราใช้เงินหยวนอยู่ประมาณ 1% ของการค้าไทยกับจีน แต่ปัจจุบันการค้าระหว่างกันมีสัดส่วนถึง 14% ของการค้าทั้งหมด จึงนับได้ว่าไทยมีการค้ากับจีนที่สูงเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้น การใช้เงินหยวนจึงมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวได้อีกมาก”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางการจีนยังไม่เปิดให้เงินหยวนซื้อขายได้อย่างเสรี ทำให้การทำธุรกรรมจึงมีข้อจำกัดอยู่บ้าง โดยอุปสรรคสำคัญสำหรับเงินหยวนอย่างหนึ่ง คือ เวลานี้ยังไม่มีความลึก และกว้างเพียงพอที่จะซื้อประกันความเสี่ยงซึ่งถือเป็นกลไกที่ยังไม่สมบูรณ์ที่เต็ม แต่ทางการจีนก็แก้ปัญหานี้โดยขอให้ไปใช้บริการที่ศูนย์แลกเปลี่ยนเงินหยวนในฮ่องกง

“ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงเงินหยวนในแผ่นดินใหญ่ได้ ดังนั้น จึงให้ใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางในการบริหารเงินก่อน หรือจะกล่าวก็คือ เวลามีสภาพคล่องส่วนเกินก็อาจเอาไปลงทุนในตราสารที่ฮ่องกง หรือถ้าขาดสภาพคล่องก็สามารถกู้ยืมเงินหยวนที่ฮ่องกงได้ ซึ่งในภูมิภาคนี้ก็มีฮ่องกงที่เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเงินหยวนที่ใหญ่สุด”นางจันทวรรณกล่าว และว่า

ทั้งนี้ หากถามว่า ธปท. มีแนวโน้มจะเพิ่มสกุลเงินหยวนในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศหรือไม่นั้น ต้องเรียนว่า การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศของ ธปท. ในปัจจุบัน มีการกระจายการถือเงินสำรองออกไปสู่ประเทศอื่นๆ ในหลากหลายประเทศที่มากขึ้น และ ธปท. ก็ได้ดำเนินการในวิธีการดังกล่าวมานานแล้ว เวลานี้จึงไม่จำเป็นที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น