xs
xsm
sm
md
lg

ศก. มหาอำนาจจีนแซงสหรัฐฯ ปีนี้! ทั้งใช่และไม่ใช่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้อมูลของ International Comparison Program (หรือ ไอซีพี) หน่วยงานสถิติฯ   ของธนาคารโลก (World Bank) ที่ประกาศข้อมูลเศรษฐกิจด้านอำนาจซื้อของประเทศ  ต่างๆ พบว่ากำลังซื้อในเศรษฐกิจจีน มีขนาดขยายใหญ่กว่าที่เคยคิดคาดคำนวณไว้มาก   จนแซงหน้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีนี้ (ภาพจากอิโคโนมิสต์)
เอเยนซี - มีรายงานเศรษฐกิจจำนวนมาก เผยข้อมูลพร้อมทั้งลงความเห็นคาดการณ์ว่า ภายในปีนี้ (2557) เศรษฐกิจจีนแซงหน้าสหรัฐฯ แน่ ซึ่งสร้างความประหลาดใจกับคนจำนวนไม่น้อย เพราะเคยรู้แต่เพียงว่า กว่าจีนจะแซงมหาอำนาจโลกฯ ได้ ต้องรอถึงปี 2563 หรือนานกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญฯ ต่างยังสับสน อ้างแยกแยะปัจจัยฯ เชื่อหากคำนวณความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ จีนดูดีกว่า แต่ถ้าวัดผลเฉลี่ยรวมทั้งจีดีพี และรายได้เฉลี่ยประชากร จีนยังคงยากจนห่างไกลสหรัฐฯ เหลือเกิน

อิโคโนมิสต์ รายงาน (30 เม.ย.) ข้อมูลเศรษฐกิจใหม่ที่อาจทำให้คนตกตะลึง โดยเชื่อว่าจีนซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกอันดับหนึ่งมาก่อน จนกระทั่ง ถูกสหรัฐฯ แซงไปในปี ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433) จะกลับมาทวงตำแหน่งมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกอีกครั้งในปีนี้ และข้อมูลที่อิโคโนมิสต์เอามาอ้าง คือข้อมูลเปรียบเทียบเศรษฐกิจแบบที่เรียกว่า ความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity หรือ PPP) ของ International Comparison Program (ไอซีพี) หน่วยงานสถิติฯ ของธนาคารโลก (World Bank)

ข้อมูลของ ไอซีพี เผยการสำรวจอำนาจซื้อของประเทศต่างๆ ซึ่งพบว่ากำลังซื้อในเศรษฐกิจจีนมีขนาดขยายใหญ่กว่าที่เคยคิดคาดคำนวณไว้มาก และตัวเลขจากการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง

ตัวเลขคำนวณวิธี พีพีพี ของ ไอพีซี ซึ่งสำรวจจากค่าครองชีพของ 199 ประเทศในปีพ.ศ. 2554 พบว่า อัตราแลกเปลี่ยนฯ ของจีนปัจจุบัน สูงกว่าที่เคยสำรวจไว้มาก (ประมาณร้อยละ 20) ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลลัพธ์เศรษฐกิจจีนคลาดเคลื่อนจากที่เคยคาดการณ์ และต้องปรับตัวเลขกันใหม่ จากเดิมที่ไอเอ็มเอฟ เคยคาดการณ์ว่าจีนจะแซงสหรัฐฯ ในปี 2563 แก้ใหม่เป็นสามารถแซงได้ในปีนี้ นี่ถือเป็นยุคสิ้นสุดศตวรรษอเมริกัน เข้าสู่ศตวรรษแห่งเอเชียแปซิฟิก กันเลยทีเดียว

ความจริงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่? เพราะจากข้อมูลสถิติของธนาคารโลกนั้น ระบุว่า ในปีพ.ศ. 2555 สหรัฐฯ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มากกว่า 16 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งใหญ่กว่าจีนสองเท่า และยังเป็นไปไม่ได้ที่จีนจะแซงได้ภายใน 10 ปี หรือกว่านั้น

"ใช่! ศก. มหาอำนาจจีนแซงสหรัฐฯ"
นักเศรษฐศาสตร์บางคน กล่าวว่า การเปรียบเทียบเศรษฐกิจโดยอาศัยลำพังมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มีข้อผิดพลาด เพราะไม่ละเอียดครอบคลุมถึงปัจจัยแปรผันซับซ้อนอื่นๆ อาทิ ความผันผวนไม่เท่าเทียมของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน เพราะถ้าสหรัฐฯ อ้างว่าค่าเงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริง นั่นแสดงว่า มูลค่าจีดีพีของจีน ก็ต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจแท้จริงที่มี

ไอซีพี ได้เสนอรายงานฯ โดยใช้วิธีเปรียบเทียบเศรษฐกิจแบบที่เรียกว่า ความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity หรือ PPP) ซึ่งเป็นค่าประมาณสำหรับอัตราแลกเปลี่ยนที่จำเป็นสำหรับอำนาจซื้อของสกุลเงินที่แตกต่างกัน ความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อนี้ ในบางครั้งจะใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ ในลักษณะเดียวกับมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนเปรียบเทียบควรจะเป็นอย่างไร หากซื้อสินค้าชิ้นเดียวกัน ในที่ต่างๆ กัน ตลอดจนต้นทุนที่ต่างกันในประเทศกลุ่มอุตสาหกรรม

พีพีพี เป็นวิธีคำนวณที่ช่วยให้เห็นข้อได้เปรียบ อีกทั้งศักยภาพเศรษฐกิจที่ซ่อน หรือรายได้ - รายจ่ายซึ่งถูกประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง ในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา ตัวอย่างเช่น จีนอาจจะมีรายจ่ายต่ำกว่าสหรัฐฯ มาก เพราะค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลจีนต้องจ่ายสำหรับทหาร นั้นเทียบกันไม่ได้กับรายจ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จ่ายให้ทหารเกณฑ์เพื่อไปรบตามสมรภูมิฯ ต่างๆ

มาร์คัส รอดลาวร์ หัวหน้าฝ่ายกิจการจีน ประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า ข้อดีของการใช้วิธีเทียบอัตราพีพีพี คือมีการคำนวณครอบคลุมไปถึงสวัสดิการรัฐ จึงได้ค่าตัวเลขที่เสถียรฯ กว่า การคำนวณแบบ 'จีดีพี'

แต่แนวคิดเทียบอำนาจการซื้อฯ นี้มีข้อจำกัดในบางเรื่อง เช่นในความเป็นจริง จีนไม่มีอำนาจซื้อขีปนาวุธ เรือรบ รถยนต์อีกทั้งไอโฟน และสินค้าไฮเทคอื่นๆ ด้วยความเท่าเทียมในอัตราแลกเปลี่ยนเปรียบเทียบตามการคำนวณแบบพีพีพี นี่คือเหตุผลว่าทำไมค่าเงินแลกเปลี่ยนจึงมีความสำคัญ เมื่อจะเปรียบเทียบความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ อำนาจทุนของแต่ละชาติ

ข้อมูลตามการคำนวณแบบพีพีพี ในปี 2554 ของไอซีพี แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ยังคงรั้งตำแหน่งมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีนมีขนาดเทียบได้เพียงเท่ากับร้อยละ 87 เมื่อวัดกับสหรัฐฯ โดยจีนโตขึ้นมาจากร้อยละ 43 ในปี 2548 ขณะที่ความคาดการณ์ที่ทำให้มั่นใจว่า จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในปีนี้ เป็นการประเมินจากอัตราเร่งขยายของเศรษฐกิจจีนในรอบ 3 ปี (หลังการประเมินของไอซีพีที่ผ่านมา) อันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวซบเซา

หากย้อนเปรียบเทียบค่าตัวเลขเศรษฐกิจฯ คงต้องดูคู่เปรียบระหว่างญี่ปุ่น - จีน ซึ่งจีนสามารถแซงญี่ปุ่นเป็นชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจได้ในปี 2553 แต่ถ้าใช้วิธีคำนวณ ความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (พีพีพี) นี้ จะเห็นว่า จีนได้แซงญี่ปุ่นมาก่อนหน้าเป็น 10 ปีแล้ว ด้วยวิธีคำนวณนี้ จะยังพบว่า อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ขณะที่ วัดจากขนาดจีดีพีแล้ว อินเดียยังคงอยู่แค่อันดับ 10 เอง

ข้อมูลเศรษฐกิจที่ใช้การคำนวณตามวิธีพีพีพีนี้ จึงเป็นข้อต่อรองสำคัญสำหรับจีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่เป็นแรงกดดันกลุ่มมหาอำนาจเศรษฐกิจเดิมอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป กับการกำหนดทิศทางอำนาจการเงินขององค์กรระดับโลก เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ

"ไม่ใช่! ศก. จีนยังไม่ทันมหาอำนาจสหรัฐฯ"
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเศรษฐกิจที่ใช้การคำนวณตามวิธีพีพีพีนี้ ก็เหมือนข้อมูลเศรษฐกิจทั่วๆ ไป ที่ต้องพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล และแนบท้ายคำเตือนข้อผิดพลาด ยกเว้นอื่นๆ ไว้เสมอ ซึ่งทางไอซีพี ก็ได้ประเมินเผื่อความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่ทางใดทางหนึ่งไว้ที่ร้อยละ 15 สำหรับการใช้ตัวเลขในการเปรียบเทียบขนาดเศรษฐกิจฯ

ด้าน สตีเฟน ชวาร์ท อดีตเจ้าหน้าที่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันทำงานให้กับ มูดี้ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ในฮ่องกง กล่าวว่า มายาคติ ที่ว่าเอาแค่จำนวนประชากรในวัยกำลังกิน - กำลังใช้ - กำลังโต ของจีน ซึ่งมีทั้งประเทศกว่า 1,300 ล้านคน (ร้อยละ 19 ของประชากรโลก) แล้วจะบอกว่ากำลังเศรษฐกิจของจีนย่อมมากกว่าสหรัฐฯ ที่มีประชากรกว่า 300 ล้านคน อย่างเทียบไม่ติดนั้น ดูจะเป็นคนละเรื่องกัน เราอาจจะคิดว่าคนมากกว่า ย่อมผลิตและมีกำลังซื้อได้มากกว่า แต่ในด้านรายได้เฉลี่ยต่อประชากรนั้น เมื่อคนมากมหาศาล รายได้ก็ย่อมต้องถูกแบ่งเป็นเบี้ยหัวแตก ไม่ได้เป็นกอบกำถ้วนทั่วหน้า

บรรดาผู้ติดตามเศรษฐกิจจีน จึงฟันธงว่าจีนไม่แซงสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลว่า 'จีนยังรวยกระจุก จนกระจาย รายได้เฉลี่ยต่อประชากรห่างไกลกับประชากรสหรัฐฯ มากนัก โดยจีนอยู่ในอันดับที่ 99 ขณะที่อินเดียอยู่ที่ 127 (สหรัฐฯ อยู่ที่ 12) ซึ่งกว่าจีนจะไต่ขึ้นมาติดท็อปเท็น คงนานหลายสิบปี และหากพิจารณาจากตรงนี้ การจะบอกว่า 'จีนเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจ ก็คงต้องเสริมวงเล็บว่า (ที่มีคนยากจนมากที่สุดในโลก)
กำลังโหลดความคิดเห็น