xs
xsm
sm
md
lg

WBยกศก.เอเชียแกร่งปีนี้โต7.1%การเมืองฉุดจีดีพีไทยซบถึงปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ธนาคารโลกระบุในรายงานฉบับปรับปรุงล่าสุดว่า ปีนี้เอเชียตะวันออกจะยังคงขยายตัวไปได้ในระดับ 7.1% จากการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก และความสามารถในการต้านทานผลกระทบจากการลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของอเมริกา อย่างไรก็ดี สำหรับไทยนั้นจะถูกวิกฤตการเมืองยืดเยื้อเป็นตัวถ่วงทั้งในด้านการเจริญเติบโตช่วงใกล้ๆ และการพัฒนาในระยะยาว

รายงานภาวะเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับปรับปรุงล่าสุดของธนาคารโลกที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันจันทร์ (7) คาดการณ์ว่า ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเอเชียตะวันออกในปีนี้และปีหน้าจะยังคงอยู่ที่ 7.1% เท่ากับปีที่ผ่านมา ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่โตเร็วที่สุดในโลก

กระนั้น อัตราเติบโตดังกล่าวถือว่า ลดลงจากอัตราเฉลี่ย 8% ซึ่งทำได้ในช่วงระหว่างปี 2009-2013

ทั้งนี้ จีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย จะมีอัตราเติบโตขยับลงอยู่ที่ 7.6% ในปีนี้ จาก 7.7% ในปี 2013 เนื่องจากการสานต่อมาตรการปฏิรูป สำหรับปีหน้า ตัวเลขคาดการณ์ยังคงอยู่ที่ 7.5%

หากไม่นับรวมจีน ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้จะขยายตัว 5.0% จาก 5.2% ในปีที่ผ่านมา

แอ็กเซล แวน ทรอตเซนเบิร์ก รองประธานธนาคารโลกประจำเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกแถลงว่า การเติบโตเข้มแข็งของเอเชียในปีนี้จะช่วยให้ภูมิภาคมีการขยายตัวอย่างมั่นคงยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางการเงินที่ลำบากเข้มงวดมากขึ้น

ธนาคารโลกเสริมว่า ปฏิกิริยาต่อการชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แสดงให้เห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นกำลังช่วยเอเชียตะวันออกในการรับมือผลกระทบจากภายนอก ซึ่งรวมถึงกระแสเงินทุนไหลกลับ

“นอกจากนี้ ประเทศส่วนใหญ่ยังมีทุนสำรองในอัตราที่เหมาะสมต่อการรับมือผลกระทบจากภายนอกและจากการค้าชั่วคราว” รายงานสำทับ

แม้ในตลาดการเงินของพวกประเทศตลาดเกิดใหม่จำนวนมาก มีการเทขายอย่างหนักหน่วงในช่วงต้นปีนี้ แต่ปรากฏว่าเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก สามารถรับมือได้ดีกับภาวะความเสี่ยงในเบื้องต้นจากการที่เงินทุนไหลออก สืบเนื่องจากมาตรการของเฟด

“ลมส่งจากการค้าโลกที่กำลังปรับตัวดีขึ้น จะช่วยชดเชยลมต้านจากตลาดการเงินโลกที่ตึงตัวมากขึ้น” รายงานระบุ

เบิร์ต ฮอฟแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกประจำเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เสริมว่า ปัจจัยส่งเสริมการเติบโตของภูมิภาคนี้มาจากภายนอก โดยเฉพาะการฟื้นตัวในประเทศพัฒนาแล้ว

กระนั้น ฮอฟแมนเตือนว่า ความเสี่ยงก็ยังคงดำรงอยู่ ได้แก่ การฟื้นตัวช้ากว่าคาดในประเทศพัฒนาแล้ว อัตราดอกเบี้ยโลกขาขึ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวนมากขึ้นจากสถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในยุโรปตะวันออก

แต่หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างมั่นคงขึ้นอาจช่วยปูทางสำหรับการปฏิรูประดับลึกยิ่งขึ้น เช่น มาตรการต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการสร้างประชาคมเศรษฐกิจเอเชียในปี 2015

ในส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุดในรายงานฉบับปรับปรุงล่าสุดนี้คือ ไทยและพม่า

ธนาคารโลกลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 3.0% ในปีนี้ และ 4.5% ในปีหน้า จาก 4.5% และ 5.0% ตามลำดับ พร้อมคาดหมายว่า การฟื้นตัวของความต้องการจากภายนอกจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย

ทว่า สำหรับความต้องการภายในจะยังคงซบเซาเนื่องจากวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยว โครงการลงทุนสาธารณะ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน

“ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่ยืดเยื้อต่อไป ยังจะทำให้รัฐบาลไทยละเลยที่จะมุ่งเน้นปัญหาการพัฒนาระยะยาว เช่น การยกระดับทักษะและความสามารถในการแข่งขัน ในทางกลับกัน หากความวุ่นวายจบลง เศรษฐกิจปีนี้จะเข้มแข็งขึ้น”

ตรงข้ามกับพม่าที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราสูงถึง 7.8% ตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2016 หลังจากรัฐบาลสร้างความคืบหน้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจระดับมหภาค เทียบกับตัวเลขคาดการณ์เดิมที่อัตรา 6.9% ทั้งปีนี้และปีหน้า

สำหรับอินโดนีเซีย การชะลอตัวของการลงทุนจากต่างชาติที่ยังดำเนินต่อไป อาจเป็นผลจากการที่นักลงทุนรอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภา

ธนาคารโลกคาดหมายว่า เศรษฐกิจแดนอิเหนาปีนี้จะขยายตัว 5.3% จาก 5.8% ในปีที่ผ่านมา

การเติบโตของฟิลิปปินส์มีแนวโน้มชะลอลงเช่นกันโดยอยู่ที่ 6.6% จาก 7.2% ในปี 2013 แต่การเร่งอัดฉีดโครงการฟื้นฟูมีแนวโน้มว่า จะชดเชยการบริโภคที่ชะลอตัวจากภัยพิบัติธรรมชาติใหญ่หลายครั้งในปีที่แล้ว

ในส่วนจีดีพีของมาเลเซีย ถูกคาดหมายว่าจะอยู่ที่ 4.9% ในปีปัจจุบัน จาก 4.7% ในปี 2013
กำลังโหลดความคิดเห็น