xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่าย ก.ม.เพื่อไทยอ้าง"รบ.-นายกฯคนกลาง"ขัด รธน.วุฒิฯ ทำไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพิชิต ชื่นบาน อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก แสดงความคิดว่า บันทึกที่เห็นต่าง "รัฐบาลกลาง" ทางออกให้ประเทศ วุฒิสภาทำไม่ได้ในกรอบรัฐธรรมนูญบันทึกฉบับนี้ ขอยืนยันคัดค้านการดำเนินการของวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งซึ่งมิใช่วุฒิสมาชิกทั้งหมดที่เป็นเจ้าภาพหลัก โดยการแสดงออกของนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา กับพวก ในการดำเนินการ เพื่อให้มีรัฐบาลกลางหรือนายกรัฐมนตรีคนกลาง โดยอ้างว่าเป็นทางออกให้ประเทศ
นายสุรชัย ชี้แจงว่า ขอความกรุณา โดยเฉพาะนักกฎหมาย อย่าบิดเบือนหรือหยิบยกเงื่อนปมทางกฎหมายมาเป็นโซ่ตรวนในการผูกมัดประเทศ ในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่ง จะไม่บิดเบือนหรือหยิบยกเงื่อนปมที่ไม่สมควร และจำเป็นมาเห็นต่างโซ่ตรวนใดๆที่คิดว่าเป็นข้อกฎหมายที่จะผูกมัดประเทศหากจะมีและจำเป็นต้องมีอยู่ก็จะใช้กับพวกที่ไม่อยู่ในหลักการทางกฎหมายหรือภาษาชาวบ้านที่มักจะพูดกันคือ "พวกที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย" เท่านั้น
นายพิชิต ระบุว่า ตนขอให้บันทึกไว้ว่า 1. แม้สมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภากลุ่มของนายสุรชัย ถือเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา122แต่การกระทำใดๆ ต้องปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งผลประโยชน์ที่ว่านี้หมายถึงการกระทำที่จะให้บรรลุเป้าหมายนั้นไปสมประโยชน์กับกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น อาทิเช่น กลุ่ม กปปส. ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับบรรดาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มิใช่ประชาชนทั้งประเทศ
2. ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 123 บัญญัติให้สมาชิกรัฐสภาซึ่งวุฒิสมาชิกต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ว่า "จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" คำถามทำไมนายสุรชัยกับพวกไม่คิดว่า "การเลือกตั้ง" ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 108 ให้ต้องปฏิบัติภายหลังยุบสภา คือทางออกของประเทศบ้าง การไม่เลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติคือปัญหาของประเทศที่จะมีผลข้างเคียงอื่นแทรกแซงทำให้ปัญหาไม่จบสิ้น
3. การประชุมวุฒิสภาในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือถูกยุบรัฐธรรมนูญบัญญัติเป็นหลักการว่า "จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้เว้นแต่อยู่ในข่ายยกเว้นตามที่ทราบกันโดยทั่วไปเท่านั้น" การพิจารณาผู้ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 และ 173 เป็นหน้าที่โดยตรงของสภาผู้แทนราษฎรที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพื่อให้อำนาจของนายกรัฐมนตรียึดโยงกับประชาชน มิได้ให้อำนาจวุฒิสภาดำเนินการ
ดังนั้น วุฒิสภาไม่อาจจัดการประชุมวุฒิสภาในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือถูกยุบเพื่อพิจารณาผู้ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมิได้ให้อำนาจแก่วุฒิสภาไว้และปัญหาที่สำคัญพระราชกฤษฎีกาที่จะทูลเกล้าฯ เพื่อขอให้เปิดสภานั้นจะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 171, 172 และ 173 เสียเองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่ว่าข้อความของกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดไม่ได้ ยังไม่รวมถึงบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นายสุรชัย ขณะนี้ยังเป็นแค่เพียงรองประธานวุฒิสภาเท่านั้น หรือแม้แต่เป็นประธานวุฒิสภาเองก็ตามรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้
4. เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ปรากฏในคำปรารภตอนหนึ่งว่า "การกำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา" เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีวุฒิสภา เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร อาทิ การยับยั้งร่างกฎหมายของฝ่ายบริหารหรือของสภาผู้แทนราษฎรหรือแม้กระทั่งถอดถอนฝ่ายบริหาร อาทิ นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้ดังนั้นดุลยภาพที่เป็นฝ่ายตรวจสอบจะมาตั้งผู้บริหารคือรัฐบาลกลางหรือนายกรัฐมนตรีคนกลางจึงผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิง
5.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557 ได้วินิจฉัยไว้ชัดแจ้งแล้วว่า "รัฐมนตรีใดที่ไม่ขาดคุณสมบัติและมีคุณสมบัติต้องห้ามแล้วต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่" แสดงว่าจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าปัจจุบันยังคงมีคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ และถือว่าโดยรัฐธรรมนูญมาตรา216คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพัน วุฒิสภา คณะรัฐมนตรีศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ให้ต้องปฏิบัติเมื่อทุกองค์กรจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 การตั้ง "รัฐบาลกลาง" ขึ้นซ้อนหรือซ้ำกับรัฐบาลที่ยังมีอยู่ จึงไม่อาจทำได้ (หมายเหตุจึงไม่แปลกใจที่ไม่มีตัวแทนของศาลรัฐธรรมนูญ เข้าร่วมประชุมกับนายสุรชัย แต่อย่างใด) อีกทั้งการตั้งรัฐบาลกลางในขณะที่ยังมีรัฐบาลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 อยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 จะถือว่าผู้กระทำการละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา8หรือไม่ ต้องตรองดูให้หนักแน่น
นายพิชิต ระบุว่า "บันทึกนี้ยืนยันเหตุและผลตามหลักกฎหมายและมั่นใจว่าไม่บิดเบือนหรือสร้างเงื่อนปมให้กับวิถีการปกครองแบบรัฐสภาของประเทศนี้อย่างเด็ดขาดแต่บันทึกฉบับนี้อาจจะเป็นโซ่ตรวนกับบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น แต่มิใช่ประเทศที่ผมหวัง เกิดและตายในประเทศนี้อย่างแน่นอน"
กำลังโหลดความคิดเห็น