xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.สั่งบลูสกายระงับออกอากาศ-โฆษณาผลิตภัณฑ์ผิดกม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงาน กสทช. สั่งผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 8 ราย ระงับการออกอากาศ หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ผิดกฎหมาย อย. หากฝ่าฝืนจะปรับวันละ 20,000

สำนักงาน กสทช. มีหนังสือสั่งผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 8 ราย คือ บ. เอช พลัส แชนแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด บ. 168 สตาร์ จำกัด บ. บลูสกาย แชนแนล จำกัด บ. ฮอท ไอเดียส์ แอนด์ เวนเจอร์ส จำกัด บ. ห้าสิบเก้า ซัคเซส จำกัด บ. บีเคเค เทเลวิชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด บ. แฌ มี ทีวี จำกัด และบ. เฮิร์บทีวี จำกัด ระงับการออกอากาศ หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ผิดกฎหมาย อย. ฝ่าฝืนจะถูกปรับในอัตราวันละ 20,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่กระทำการฝ่าฝืนคำสั่ง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือถึงผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 8 ราย คือ บริษัท เอช พลัส แชนแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท 168 สตาร์ จำกัด บริษัท บลูสกาย แชนแนล จำกัด บริษัท ฮอท ไอเดียส์ แอนด์ เวนเจอร์ส จำกัด บริษัท ห้าสิบเก้า ซัคเซส จำกัด บริษัท บีเคเค เทเลวิชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท แฌ มี ทีวี จำกัด และบริษัท เฮิร์บทีวี จำกัด ให้ระงับการออกอากาศหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยอาหาร หรือกฎหมายว่าด้วยยา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีหนังสือสั่งระงับการโฆษณาดังกล่าวไปยังผู้ประกอบกิจการทั้ง 8 รายแล้วก่อนหน้านี้ โดยให้ระงับการออกอากาศโฆษณาดังกล่าวเป็นการชั่วคราว นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักงาน กสทช. จนกว่า อย. จะดำเนินการตามกฎหมายในกรณีดังกล่าวถึงที่สุด พร้อมกันนั้นให้ทั้ง 8 บริษัทรายงานผลการดำเนินการตามคำสั่งให้สำนักงาน กสทช. ทราบโดยเร็ว หากบริษัทฯ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงาน โดยยังมีการออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหารและยาอย่างครบถ้วน สำนักงาน กสทช. จะกำหนดให้บริษัทฯ ชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 20,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่กระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ทั้งนี้ หากบริษัทฯ ไม่พอใจในคำสั่งของสำนักงานฯ บริษัทฯ มีสิทธิโต้แย้งโดยการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากสำนักงาน กสทช.

นายฐากร ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า กรณีการสั่งระงับการออกอากาศหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ผิดกฎหมาย อย. ของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ทั้ง 8 รายดังกล่าว สืบเนื่องมาจากสำนักงาน กสทช. ได้รับแจ้งจาก อย. ว่าผู้ประกอบกิจการฯ ดังกล่าวดำเนินการออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร หรือยา หรือสินค้า ที่มีข้อความที่ไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาตามกฎหมาย ซึ่งการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารหรือยาในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ โดยไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหารและยาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 7/2556 เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2556 และครั้งที่ 44/2556 เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2556 ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์แพร่ภาพกระจายเสียงผลิตภัณฑ์อาหารและยา โดยไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหารและยา โดยถือเป็นการกระที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาต ซึ่งหลังจากได้รับแจ้งจาก อย. สำนักงาน กสทช. ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าทั้ง 8 บริษัท เป็นผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ และได้มีการดำเนินการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร หรือยา หรือสินค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหารและยา อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาต

สำหรับกรณีของบริษัท เอช พลัส แชนแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด นั้น ได้มีการดำเนินการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา บีแอล 99 (BL99) โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหารและยา อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาต ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องรายการ H Plus Channel กรณีของบริษัท เอช พลัส แชนแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้มีการดำเนินการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ดี เชฟ (D-Shape) โดยมีข้อความที่ไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาตามกฎหมาย ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องรายการ doodee channel ส่วนบริษัท บลูสกาย แชนแนล จำกัด ได้มีการดำเนินการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ไอ-ซูลิน (I-ZULIN) โดยมีข้อความที่ไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาตามกฎหมาย ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องรายการ BLUESKY CHANNEL ในส่วนของบริษัท ฮอท ไอเดียส์ แอนด์ เวนเจอร์ส จำกัด ได้มีการดำเนินการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา ทวนทอง 99 โดยมีข้อความที่ไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาตามกฎหมาย ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ช่องรายการ My TV ส่วนกรณีของบริษัท ห้าสิบเก้า ซัคเซส จำกัด ได้มีการดำเนินการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ไนซ์ฟิล (Nize Fil) ผลิตภัณฑ์อาหาร ลินเซีย ( Linzia) ผลิตภัณฑ์อาหาร คอฟฟี่ สลิม (Coffee Slim) และผลิตภัณฑ์อาหาร ไอ-ซีเครท (I-Secret) โดยมีข้อความที่ไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาตามกฎหมาย ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องรายการ Ok Life Asean Channel

สำหรับกรณีของบริษัท บีเคเค เทเลวิชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ได้มีการดำเนินการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร แอสต้า-เอ็กซ์ (Asta X) ผลิตภัณฑ์อาหาร แอสตาแคร์ (Asta Kare) ผลิตภัณฑ์อาหาร บีแอล แม็กซ์ (BL maxx) และผลิตภัณฑ์อาหาร เรดมอส โดยมีข้อความที่ไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาตามกฎหมาย ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องรายการ FIN Station ส่วนกรณีของบริษัท แฌ มี ทีวี จำกัด ได้มีการดำเนินโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ดีเอชเอ (DHA) ผลิตภัณฑ์อาหาร แอสต้า-เอ็กซ์ (Asta X) และผลิตภัณฑ์อาหาร บล็อก และ เบิร์น (Block & Burn) ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องรายการ Share TV และ กรณีบริษัท เฮิร์บทีวี จำกัด ได้มีการดำเนินการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพรทิพย์ปทุม และผลิตภัณฑ์ยา ยาสตรีผสมว่านชักมดลูก โดยมีข้อความที่ไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาตามกฎหมาย ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องรายการ Herbs TV

“การดำเนินการของสำนักงาน กสทช. ดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โดยไม่เลือกปฏิบัติของ กสทช. เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการพึงระมัดระวังในการนำเนื้อหามาเผยแพร่ออกอากาศ อีกทั้งยังเป็นการคุ้มครองให้ประชาชนผู้รับชมรายการได้รับชมเนื้อหาข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ไม่ต้องทนรับชมรายการที่มีเนื้อหาอันตราย ผิดกฎหมาย และไม่เหมาะสม” เลขาธิการ กสทช. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น