xs
xsm
sm
md
lg

ปปง.เตรียมอายัดทรัพย์สินตัวการ "แคลิฟอร์เนีย ว้าว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. ร.ต.อ.สุวนีย์ แสวงผล รองเลขาธิการ ปปง. แถลงข่าวผลการตรวจสอบบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนท์ จำกัด (มหาชน) หลังปิดการให้บริการฟิตเนสแคลิฟอร์เนีย ว้าว ทุกสาขาทำให้มีสมาชิกฟิตเนสฯ ที่ได้จ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้าได้เข้าร้องขอความเป็นธรรมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ เบื้องต้นพบความผิดเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน เตรียมอายัดทรัพย์สินพร้อมประสานกองบังคับการปราบกรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(ปคบ.) ดำเนินคดี
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากมีประชาชนผู้ใช้บริการของสถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนีย ว้าว กว่า 1,000 คน ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่บริษัทฯ ปิดการให้บริการฟิตเนส แคลิฟอร์เนีย ว้าว เกือบทุกสาขา โดยไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า ดังนั้นกลุ่มประชาชนที่เป็นสมาชิกผู้ใช้บริการจึงได้เข้าร้องเรียนต่อนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อขอความช่วยเหลือ ต่อมา เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2556คณะกรรมาธิการฯ ได้จัดประชุมเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว โดยมีผู้แทนจาก 7 หน่วยงานและผู้แทนของ ปปง.เข้าร่วมประชุมด้วย ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ อาคารรัฐสภา
จากการประสานข้อมูลกันเบื้องต้น ปปง.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำของบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หลังการสอบสวนพบว่าบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ไม่ได้มีเจตนาทำธุรกิจให้บริหารฟิตเนสตั้งแต่ต้น แต่ได้ประกอบกิจการโดยการวางแผนอย่างชาญฉลาด เพื่อระดมเงินจากตลาดหลักทรัพย์และจากสมาชิกที่ใช้บริการของฟิตเนสแคลิฟอร์เนีย ว้าว จากการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว พบว่าปริมาณธุรกรรมที่มีการทำมาแต่ละปี มีรายได้เข้ามาจำนวนมากมาย แต่รายได้ที่เข้ามาในบริษัทไม่ได้มีการนำรายได้มาใช้ในการประกอบการ แต่กลับนำเงินรายได้ที่ได้มาส่งโอนออกไปต่างประเทศ
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอีกว่า จากการสอบสวนพบว่า บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว มีการโอนเงินออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการทำธุรกรรมรายปีตั้งแต่ปี2545-2556 บางช่วงเวลามีการทำธุรกรรมจำนวนสูงกว่า 400ล้านบาท เมื่อพิจารณาในภาพรวมพบว่ามีธุรกรรมหมุนเวียนในช่วง 10 ปีมานี้ กว่า 1,600 ล้านบาท นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินในแต่ละช่วงเวลา พบว่ามูลค่าสูงสุดของการทำธุรกรรมเกิดขึ้นในช่วง 3 ปี คือ 2552-2554 โดยร้อยละ 99 เป็นการทำธุรกรรมผ่านระบบ SWIFT คือ การโอนเงินออกไปต่างประเทศกว่า 1,699 ล้านบาท อาจกล่าวได้ว่าธุรกรรมของบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เกือบทั้งหมดเป็นการโอนเงินออกไปยังต่างประเทศ
ขณะเดียวกันบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ได้มีการระดมเงินทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยตั้งเป็นบริษัทมหาชน พร้อมจัดให้มีการซื้อขายหุ้น เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2548 จนกระทั่งปี 2554 ตลาดหลักทรัพย์ได้ขึ้นเครื่องหมาย "SP" หรือการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ แต่ขณะที่มีการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ แต่กลับพบว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2554 มีเงินไหลออกจากบริษัทสูงกว่า 400 ล้านบาท และปี2553 เกือบ 500 ล้านบาท ทำให้เห็นว่าบริษัทมีความตั้งใจที่จะประกอบกิจการจริง โดยผู้เกี่ยวข้องระดับดำเนินการทำธุรกรรมทางการเงินจำนวน 10ราย ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติ เริ่มมีโอนเงินที่ได้จากกิจการออกไปตั้งแต่ปี 2555เรื่อยมา แม้ว่าในช่วงต้นของการประกอบกิจการ ธุรกิจยังประสบภาวะขาดทุนก็ตาม แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของแคลิฟอร์เนีย ว้าว และผู้ที่เกี่ยวข้องส่อเจตนาที่จะฉ้อโกงลูกค้าตั้งแต่เริ่มต้นกิจการ
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ ปปง.จะติดตามอายัดเงินของบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว แม้ว่าจะมีการโอนไปต่างประเทศทั้งหมดแล้ว โดยทราบประเทศปลายทางที่มีการโอนเงินไปแล้ว โดยบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว ได้ปิดสาขาฟิตเนส ทุกแห่งพร้อมมีสถานะเป็นบริษัทล้มละลาย พร้อมจะประสาน บก.ปคบ.เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงิน และจะสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า ปล่อยให้บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว สร้างความเสียหายให้ผู้ลงทุนได้อย่างไร เพราะมีการแต่งบัญชีเป็นเท็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น