xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าฯ วอน พณ.ตรวจสอบข้อเท็จจริงตัวเลขเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาชนเห็นว่าราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น สวนทางกับตัวเลขเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน อยู่ที่ร้อยละ 2.47 ลดลงจากเดือนมีนาคม อยู่ที่ร้อยละ 3.45 หรือลดลงเกือบร้อยละ 1 ในช่วงเดือนเดียว ทำให้นักวิชาการบางราย ตั้งข้อสังเกตการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดลง
แม้กระทรวงพาณิชย์รายงานราคาสินค้าหลายรายการลดลง แต่เมื่อสำรวจตลาดบางแห่ง พ่อค้าแม่ค้ายอมรับว่า ต้องปรับราคาสินค้าขึ้น เช่น รายงานระบุว่า เนื้อสุกร กิโลกรัมละ 123 บาท แต่ราคาขายในตลาด อยู่ที่ 135-140 บาท ขณะที่ผักชี ขายที่กิโลกรัมละ 100 บาท แต่ในรายงานระบุราคาอยู่ที่ 70-80 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาอาหารสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งข้อสังเกตส่วนของอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำสุด ในรอบ 29 เดือน ที่ระดับร้อยละ 2.47 ถือว่าลดลงรวดเร็ว จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า เกิดจากสาเหตุอะไร
ขณะที่รศ.มนตรี โสคติยานุรักษ์ นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ระบุว่า การวัดอัตราเงินเฟ้อ เป็นปรากฏการณ์ที่ราคาสินค้าสูงขึ้น แต่วิธีการวัดจะใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคมาเปรียบเทียบ โดยคำนวณจากสินค้า 417 รายการ เพื่อดูว่าราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ รายการสินค้าในการสำรวจเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ มีจำนวน 417 รายการ พบว่า 161 รายการ ราคาคงที่ 69 รายการราคาลดลง และ 187 รายการ ราคาเพิ่มขึ้น โดยเป็นการสำรวจทั่วประเทศจาก 60,000 ตัวอย่าง
ขณะที่ นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ มองกรอบเงินเฟ้อทั้งปี อยู่ที่ร้อยละ 3-4 นอกจากนี้ราคาพลังงานมีแนวโน้มลดลง เพราะสหรัฐฯ และยุโรป จะเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง และสินค้าที่มีต้นทุนขนส่ง ราคาลดลงตามไปด้วย
ด้านปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ลดลง เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ไม่กล้าปรับขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากเกรงว่าจะขายสินค้าไม่ได้ เพราะกำลังซื้อผู้บริโภคไม่เพิ่ม ขณะที่ต้นทุนด้านวัตถุดิบผลิตสินค้าไม่เพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.16
กำลังโหลดความคิดเห็น