xs
xsm
sm
md
lg

"สามารถ"ตะแบงนำรายงานปรองดอง ส.พระปกเกล้าเข้าสภาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเริ่มขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้ มีวาระสำคัญในการรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีสาระสำคัญในการอ้างอิงผลการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า เกี่ยวกับข้อเสนอการสร้างความปรองดองที่มุ่งเน้นการสร้างบรรยากาศความปรองดอง เคารพความเห็นต่าง และไม่ใช้ความรุนแรง การชดเชยและเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบ ที่ต้องทำด้วยความรอบคอบและเป็นที่ยอมรับ รวมถึงต้องพิจารณาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ควรกำหนดประเด็นให้เป็นที่มั่นใจว่าเป็นการแก้ไขเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้มีความสมบูรณ์ โดยไม่มีเจตนาแอบแฝง
นอกจากนี้ การปรองดองต้องดำเนินการตามหลักนิติธรรม และยุติความขัดแย้งด้วยการขับเคลื่อนผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งในรายละเอียดได้มีการนำเสนอให้มีการนิรโทษกรรม และล้มคดีของ คตส.ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายค้าน และสถาบันพระปกเกล้า ไม่ให้มีการเร่งรัดพิจารณาหรือลงมติในข้อเสนอดังกล่าว และให้ขยายเวลาการศึกษาออกไปก่อน แต่นายสามารถ แก้วมีชัย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ ยืนยันว่า รายงานสรุปดังกล่าวมีความสมบูรณ์แล้ว และการพิจารณาของสภาฯ วันนี้ก็เป็นเพียงการรับทราบเท่านั้น ไม่มีการลงมติใดๆ ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้อาจจะมีการหารือระหว่างคู่ขัดแย้ง และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน
ขณะที่เครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน นำโดยนายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย ได้มีการรวมตัวชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเป็นการคัดค้านการเสนอรายงานดังกล่าวต่อที่ประชุม เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเห็นควรให้มีกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้มีการยื่นหนังสือต่อนายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิของประชาชนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเห็นว่าเป็นมูลเหตุสำคัญที่ไม่ควรมีการนิรโทษกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น