xs
xsm
sm
md
lg

ไทยจัดทำแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภัยพิบัติจากคลื่นสึนามิ เมื่อปี 2547 ทำให้ประเทศต่างๆ ในแทบเอเชียแปซิฟิก และทวีปแอฟริกา ตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชีวิต และทรัพย์สินจากภัยพิบัติ จึงได้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อลดภัยพิบัติในระดับโลกขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น และได้มีมติให้มีการจัดทำมาตรการลดภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบการดำเนินงานเฮียวโกะ ประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในเชิงยุทธศาสตร์ปี 2553 -2562 เพื่อกำหนดทิศทางการลดความเสี่ยงภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ โดยแบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์คือ ยุทธศาสตร์การป้องกันและลดผลกระทบ เช่น จะต้องมีการทบทวนกฎหมาย มีการบริหารจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน และทำแผนที่เสี่ยงภัย ต่อมาคือยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถของการเตือนภัย จัดทำแผนการป้องกันภัยทุกระดับ และมีการซักซ้อมแผน ถัดมาคือยุทธศาสตร์การบริหารจัดการฉุกเฉิน เช่น ต้องมีการตั้งศูนย์บริหารวิกฤตระดับชาติ การพัฒนาศักยภาพของระบบการสื่อสารฉุกเฉิน และยุทธศาสตร์การจัดการหลังเกิดภัย ต้องมีการประเมินความเสียหายเบื้องต้น ความต้องการของผู้ประกันภัย และจัดทำแผนฟื้นฟู
นายสุวิทย์ ยอดมณี ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ได้เสนอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยูกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเทคโนโยลีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรจุการจัดการภัยพิบัติเป็นภารกิจร่วมกัน ที่ทุกหน่วยงานจะต้องให้ความสำคัญ และช่วยกันป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น