xs
xsm
sm
md
lg

อดีต ส.ส.ร.ย้ำศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตั้งขึ้นเพื่อฟันนักการเมืองโดยเฉพาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวถึงบทบาทอำนาจหน้าที่ของศาลฎีกา รวมทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นศาลหนึ่งที่อยู่ในศาลฎีกา เพียงแต่มีหน้าที่พิจารณาคดีเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยเฉพาะที่เป็นการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงเท่านั้น ถูกก่อตั้งขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยการพิจารณาคดีจะใช้ระบบการดำเนินคดีอาญาตามปกติทั่วไปตามวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นศาลที่ตั้งขึ้นเพื่อนักการเมืองโดยเฉพาะ เนื่องจากในอดีตการพิจารณาคดีของศาลอาญามีกระบวนการล่าช้า และกระบวนการปกติในศาลอาญามักไม่สามารถเอาผิดนักการเมืองผู้กระทำความผิดได้จริงในทางปฏิบัติ ทั้งที่มีการทุจริตค่อนข้างมาก จึงมีการตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้น เพื่อพิจารณาคดีของนักการเมือง ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลโดยเฉพาะ
สำหรับที่มาขององค์คณะที่พิจารณาคดี จะถูกเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกำหนดไว้ ที่จะต้องกำหนดองค์คณะเพื่อพิจารณาคดีนั้นๆ หมุนเวียนกันไปไม่ใช่มีเพียงองค์คณะเดียว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการวิ่งเต้นช่วยเหลือคู่ความ
สำหรับการพิจารณาคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายคมสัน ไม่ขอพูดถึงรายละเอียด โดยกล่าวเพียงกระบวนการพิจารณา คือเมื่อศาลฎีกาฯ ได้รับคำร้องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นการร้องขอให้ศาลยึดทรัพย์เพื่อตกเป็นของแผ่นดิน กรณีที่บุคคลได้รับการร้องเรียนว่าร่ำรวยผิดปกติ และเมื่อกระบวนการไต่สวนเสร็จสิ้น องค์คณะก็จะพิจารณาไปตามพยานหลักฐานว่าจะยึดทรัพย์ทั้งหมด หรือคืนบางส่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น