xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “5 พรรคร่วมฯ” รวมหัวแก้ รธน.เพื่อประโยชน์ตัวเอง?!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีต หน.พรรคชาติไทย นำแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา หารือกับนายเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน และแกนนำพรรคภูมิใจไทยเรื่องแก้ รธน.(20ม.ค.)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

ดูเหมือนพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค จะเริ่มส่งสัญญาณให้ ส.ส.ของพรรคฟรีโหวตแล้ว หากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งนี้ก็เพื่อเอาคืนที่ ปชป.มีมติไม่ร่วมลงชื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา เมื่อ ปชป.ตัดสินใจไม่เอาด้วยกับพรรคร่วมฯ แบบนี้ นอกจากต้องลุ้นว่า การแก้รัฐธรรมนูญโดยนักการเมืองและเพื่อนักการเมืองครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่แล้ว ยังต้องวัดใจ 5 พรรคร่วมฯ ด้วยว่า จะเปลี่ยนขั้วย้ายข้างไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่? และจริงหรือที่พรรคร่วมฯ อ้างว่า ควรแก้มาตรา 94 เรื่องเขตเลือกตั้งจากเขตใหญ่เรียงเบอร์เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว เพราะให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง บางทีนั่นอาจเป็นแค่วาทกรรมที่นำความจริงมาพูดไม่หมดก็เป็นได้

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

ความพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ให้ได้ในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล เริ่มปรากฏสัญญาณตั้งแต่หลังปีใหม่เป็นต้นมา เมื่อนายบรรหา ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากกรณียุบพรรค แต่กลับได้รับแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาส่งสัญญาณว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมแก้ รธน. พรรคชาติไทยพัฒนาอาจจะไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยเพื่อให้มีการแก้ รธน.

ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน และประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย สบช่องรีบออกมาส่งสัญญาณชวนพรรคชาติไทยพัฒนาให้มาจับมือกันเพื่อนำ รธน.2540 กลับมาใช้อีกครั้ง แถมไม่วายเสี้ยมพรรคร่วมรัฐบาลให้ย้ายขั้วย้ายข้างมาจับมือกับพรรคเพื่อไทย โดยบอกว่า บ้านเมืองเป็นอย่างนี้แล้ว จะอยู่กันยังไง จะไปร่วมหัวจมท้ายกับรัฐบาลไหวเหรอ...

กระทั่งเมื่อวันที่ 19 ม.ค. นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ออกมาให้ความชัดเจนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ โดยบอกว่าขณะนี้ 3 พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคชาติไทยพัฒนา-พรรคภูมิใจไทย-พรรคเพื่อแผ่นดิน ได้ร่วมกันลงชื่อครบ 1 ใน 5 ของสมาชิกสภาฯ เพื่อเตรียมยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภาแล้ว โดยจะเสนอแก้ 2 มาตรา คือ มาตรา 190 เกี่ยวกับการทำสัญญาระหว่างประเทศที่ รธน.2550 กำหนดให้ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน และมาตรา 94 เรื่องเขตเลือกตั้ง โดยต้องการแก้ไขจากเขตใหญ่เรียงเบอร์ เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว

จากนั้น แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา นำโดยนายบรรหารก็ได้เดินสายหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ที่มีนายเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวินที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากกรณียุบพรรค เป็นแกนนำ, พรรคเพื่อแผ่นดิน, พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคกิจสังคม พร้อมประกาศจุดยืนร่วมกันเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2 มาตราดังกล่าว

ขณะที่ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ใน 3 ประเด็น คือ 1.คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือลดพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดให้กับนักการเมืองและพวกพ้อง และ 3.คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของนักการเมืองหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งพันธมิตรฯ ชี้ว่า ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองและนักการเมือง ซึ่งพันธมิตรฯ จะคัดค้านจนถึงที่สุด

แกนนำพันธมิตรฯ ยังฝากถึงพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นแกนหลักในรัฐบาลด้วยว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วพรรคร่วมรัฐบาลไม่พอใจ ขู่ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ก็ขอให้พรรคประชาธิปัตย์ยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพื่อดำรงไว้ซึ่งความถูกต้องชอบธรรม ประชาชนจะหนุนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เอง

ล่าสุด ที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ก็ได้ข้อยุติเกี่ยวกับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญแล้วว่าจะเอาด้วยกับพรรคร่วมฯ หรือไม่ โดยมีมติ 82 ต่อ 48 ไม่ร่วมลงชื่อเพื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 มาตราตามที่พรรคร่วมรัฐบาลได้บรรลุข้อตกลงไปก่อนหน้าแล้ว ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือจะฟรีโหวตในสภาหรือไม่ จะให้ที่ประชุม ส.ส.พรรคเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้ง

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่กังวลว่ามติของพรรคที่ออกมา จะกระทบความสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนจะนำไปสู่การยุบสภาหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ บอกว่า “ในพรรควิเคราะห์กันว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลไม่พอใจ เราก็ต้องยอมรับในการตัดสินใจของเรา เมื่อเราตัดสินใจแล้ว เราก็ต้องรับผลที่ตามมา”

ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 94 เรื่องเขตเลือกตั้ง เนื่องจากมองว่า เขตใหญ่เรียงเบอร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ช่วยให้การซื้อเสียงทำได้ยากกว่าแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ต้องการแก้ไขให้เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว เพราะจะทำให้พรรคเล็กมีโอกาสได้รับเลือกตั้งมากขึ้น แต่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล พยายามอ้างว่าการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนมากกว่าเขตใหญ่เรียงเบอร์

เพื่อความกระจ่างเรื่องเขตเลือกตั้งว่า แบบไหนดีกว่ากัน ระหว่างเขตใหญ่เรียงเบอร์และเขตเดียวเบอร์เดียว ลองไปฟังความเห็นของอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และผู้ที่อยู่ในแวดวงการเลือกตั้งกัน และบุคคลเหล่านี้จะเห็นด้วยหรือไม่กับการเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และ 94

อ.คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีต ส.ส.ร.2550 บอกกับวิทยุ ASTVผู้จัดการว่า การพูดกันเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเขตเลือกตั้งว่าจะเขตใหญ่เรียงเบอร์หรือเขตเดียวเบอร์เดียว เป็นเรื่องที่ไร้สาระ และเป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง และว่า หากต้องการแก้ปัญหาเรื่องการเลือกตั้งให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน และสะท้อนเสียงของประชาชนจริงๆ ต้องแก้ทั้งระบบเลือกตั้ง ไม่ใช่แก้แค่เรื่องเขตเลือกตั้ง

“มันไร้สาระน่ะ คือเวลาคุยเรื่องเขต มันเป็นเรื่องผลประโยชน์นักการเมืองแท้ๆ เลย ประชาชนไม่ได้อะไร ถ้าจะคุยกันจริง มันต้องคุยระบบการเลือกตั้ง ไม่ใช่คุยเรื่องเขตเลือกตั้ง เพราะระบบการเลือกตั้งมันไม่ได้พูดเพียงแค่เรื่องเขต พูดถึงวิธีการเลือกด้วย พูดถึงระบบบัญชีด้วย พูดถึงระบบของการที่จะทำให้สัดส่วน ทำยังไงถึงจะสะท้อนเสียงของประชาชนได้ ผมถึงบอกว่า พูดแต่เขตอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพูดระบบ ถ้า 1 เขต 1 คน ไทยรักไทยในอดีตก็ใช้ตรงนี้มีประสิทธิภาพ จนกระทั่งทำให้ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งอยู่ในระบบสัดส่วนที่เราเคยชินกันเนี่ย กลายเป็นโบนัส คือหมายความว่า จริงๆ คะแนนเสียงตัวไม่ถึงตรงนั้นหรอก แต่กลับได้คะแนนเสียงมากกว่าเดิม คือหมายความว่า ยกตัวอย่างเช่น ไทยรักไทยในอดีต คะแนนเนี่ย สมมติตัวเลขนะ ว่าคะแนน พอคิดสัดส่วนแล้วน่าจะได้ประมาณ 60 คน แต่ปรากฏว่า ภายใต้ระบบ ได้ไปถึง 80 คน คำถามคือ 80 คนเนี่ย ก็ไปกินข้างล่างเขามา ไปกินพรรคเล็กพรรคน้อยเขามา ทำให้ได้โบนัสเพิ่ม หมายความว่าตัวปาร์ตี้ลิสต์ที่ได้มานั้นน่ะ คะแนนโอเวอร์ของจริง คะแนนเสียงจริงทั้งประเทศ คุณอาจจะได้รวมแล้วแค่นี้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นระบบของปี 2540 เนี่ยมันถูกตั้งคำถามเยอะในหมู่นักวิชาการว่า จริงๆ มันไม่ดีเท่าไหร่ เพราะมันไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมือง”

“(ถาม - เพราะฉะนั้นถ้าจะเอาเขตเดียวเบอร์เดียว ก็คือต้องไปแก้ระบบสัดส่วนด้วย?) ไม่ใช่ คือถ้าจะแก้ ต้องแก้ทั้งระบบ ถ้าใครคิดว่ะจะเอาระบบที่ดีต้องไปศึกษาและดีไซน์ว่าระบบที่คิดว่าเป็นธรรมกับประชาชน แต่ไม่ใช่เป็นประโยชน์กับนักการเมือง เป็นธรรมกับประชาชนก็คือ 1.เขาสะดวกในการเลือก 2.ไม่สับสนเกินไป 3.มีความเสมอภาคในการเลือก ทีนี้จะใช้ระบบไหน ก็ต้องหมายความว่า ผมคิดว่า ส.ส.ที่ท่านกำลังอยู่นี่ไม่มีปัญญา มันเป็นเรื่องทางวิชาการ แล้วก็พูดกันเพ้อเจ้อกันอยู่ตรงนี้ว่า เขตใหญ่เขตเล็กดี คือมันไม่ได้ดีทั้ง 2 อันน่ะ อันนี้พูดกันแบบตรงๆ แล้วก็ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องซื้อเสียงได้-ไม่ได้ เป็นเรื่องเพ้อเจ้ออย่างยิ่ง พูดกันไปเลอะเทอะ”

“(ถาม - พรรคร่วมฯ ที่กำลังเคลื่อนไหว บอกว่า เขตเล็กคำนึงถึงเสียงประชาชนที่มาใช้สิทธิ?) ไม่จริง เขาก็พูดแต่เพียงผลประโยชน์เขา ก็คือ เขตเล็กเนี่ยมันทำให้ประชาชนมีสิทธิเท่ากัน แต่ข้อเสียของมัน ต้องพูดให้ครบนะ ข้อเสียของมันก็คือ ไอ้คนไม่เลือกมึงน่ะ คนไม่เลือกคุณ มันทิ้งเลยนะ เขาเรียกคะแนนตกน้ำน่ะ ฉะนั้นเวลาเขาพูด เขาพูดแต่ข้างเดียว เราต้องพูดข้อมูลให้ครบ ผมถึงบอกว่ากำลังเถียงกันน่ะ ไร้สาระที่สุด และที่กำลังพูดเนี่ย เพื่อผลประโยชน์นักการเมือง และแก้ปัญหาเรื่องระบบยังไม่ได้เลย เขตใหญ่-เขตเล็กเนี่ยไม่มีประโยชน์ทั้งคู่น่ะ”


ด้าน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ส.ร.2550 มองว่า ไม่มีความจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 และ 94 เพราะเป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองและนักการเมือง พร้อมเชื่อว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลยื่นญัตติเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเข้าสภา ในที่สุดแล้ว อาจไม่ใช่แก้แค่ 2 มาตรา อาจต้องพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญฉบับ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำคนเสื้อแดง ที่ต้องการนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว

“มันไม่มีความจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2 มาตรานี้ ผมเข้าใจว่ามาตรา 190 มันเป็นเพียงแค่ไม้ประดับที่เขาทำให้มันดูว่า ไม่ใช่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัว แต่อีกประเด็นหนึ่งมันเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวของเขา คือเป็นประโยชน์ส่วนตัวกับบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมือง ก็คือเขตใหญ่-เขตเล็ก แต่เรื่องมาตรา 190 จริงๆ แล้วไม่มีเหตุจำเป็นต้องแก้ เพราะใน รธน.ก็เปิดให้มีกฎหมายลูก คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ระบุอยู่แล้ว แล้วก็ยังไม่ทำกัน ยังทำกันไม่เสร็จเอง คือให้มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าสนธิสัญญาหรือสัญญาใดจะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่ ก็น่าจะทำกฎหมายให้เสร็จ มันก็จบ แต่ถ้าอยากจะแก้ มันก็เพียงแค่ ถ้าแก้เล็กๆ น้อยๆ มันก็เพียงแค่ไม่มีอะไร มันก็ ผมว่าเป็นไม้ประดับ แต่ประเด็นเรื่องเขตใหญ่-เขตเล็ก ก็พอจะเข้าใจได้ว่า พรรคการเมืองบางพรรคต้องการเขตเล็ก เพราะจะคลุมฐานเสียง หรือคุมคนที่มาใช้คะแนนเสียง ลงคะแนนเสียง และคุมการนับคะแนนหรือคุมการที่ตัวเองจ่ายเงินซื้อเสียง หรือมีอิทธิพลในพื้นที่ก็จะง่ายขึ้น เพราะเขตใหญ่ การซื้อเสียงหรือการที่จะควบคุมคะแนนเสียง ก็จะลำบากกว่าเขตเล็ก มันก็มีแค่นั้น แต่ผมเกรงว่ามันไม่ใช่เพียงแค่แก้ 2 มาตรา พอในที่สุดแล้ว ก็ไปรวมกันพิจารณาร่วมกันกับประเด็นเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มา เช่น กรณีที่หมอเหวงได้เสนอให้เอาญัตติมารวมกัน อันนั้นก็เป็นเรื่องที่น่ากลัว”

ขณะที่ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต) บอกว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงเห็นว่าการเลือกตั้งควรเป็นแบบวันแมนวันโหวต อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อแก้รัฐธรรมนูญในขณะนี้ เพราะเป็นการแก้เพื่อประโยชน์ของนักการเมือง และจะทำให้เกิดความขัดแย้งในสภา พร้อมเชื่อว่า การแก้ รธน.ครั้งนี้จะเสียเวลาเปล่า เพราะไม่น่าจะสำเร็จ

“ผมคิดว่าโดยส่วนรวมแล้ว ไม่อยากให้การเคลื่อนไหวในการแก้รัฐธรรมนูญไอ้เรื่องเขตเดียวเรียงเบอร์ เขตเดียวเบอร์เดียวอะไรเนี่ย เราทำกลับไปกลับมากันเนี่ย มีข้อดีข้อเสียก็รู้กันอยู่ ผมว่าถ้าให้เป็นไปประชาธิปไตยจริงๆ ก็ต้องวันแมนวันโหวตนั่นแหละ ที่เขาในฉบับ 2540 น่ะ วันแมนวันโหวต เนี่ยถูกต้อง เพราะคนหนึ่งมีสิทธิเลือกได้ 2 คน จังหวัดหนึ่งเลือกได้คนเดียว อย่างนี้มันใช้ไม่ได้ และมันไม่ได้เปรียบเสียเปรียบอะไรพรรคการเมือง การแก้รัฐธรรมนูญเนี่ย มันควรจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชน นี่มันเรื่องของพรรคการเมืองเอาประโยชน์ของพรรคการเมือง และผมไม่เชื่อว่าจะแก้ได้ คือจะต้องมีการขัดแย้งกัน เสียเวลา ควรจะมุ่งไปในด้านอื่นในความเห็นของผม ...(ถาม - เพราะฉะนั้นท่านสายหยุดเชื่อว่า ความพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญในขณะนี้ไม่น่าจะสำเร็จ?) ไม่เชื่อว่าจะสำเร็จ เสียเวลาเปล่า และจะมีการหมกเม็ดหมกไส้อะไรกันอีกร้อยแปด เราก็เห็นอยู่แล้ว การเมืองบ้านเรา เสียเวลาเปล่า”

ด้าน รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน.2550 ยอมรับว่า การเลือกตั้งแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ทำให้การซื้อเสียงเลือกตั้งทำได้ยากกว่าแบบเขตเดียวเบอร์เดียว พร้อมชี้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญในช่วงนี้ โดยเฉพาะมาตรา 190 และ 94 ไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์หรือช่วยให้สถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้น

“ความจริงแล้วการแก้รัฐธรรมนูญในช่วงนี้ มันไม่ได้เป็นตัวช่วยที่จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้น เพราะในเรื่องการแก้ไขใน 2 มาตรา ในมาตรา 94 การแก้เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว เขาได้มีการใช้การเลือกตั้งแบบนั้นมาแล้ว คราวก่อนก็มีปัญหา เพราะการกำหนดการเลือกตั้งเนี่ย มันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรมาก ถ้าหากว่านักการเมืองไม่ได้ใช้วิธีการบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้งมากนัก ส่วนกรณีของมาตรา 190 เนี่ย เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องการที่จะให้การดำเนินงานของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่การทำสนธิสัญญากับต่างประเทศได้รับความเห็นชอบจากประชาชน ไม่ได้มีประเด็นที่จะทำให้ความล่าช้าในการพิจารณาเรื่องนี้เกิดขึ้นเลย เพราะว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ตอนที่เราทำเรื่องข้อตกลงอาเซียน นำเข้ามาสู่การประชุมของรัฐสภา ใช้เวลาไม่นาน เพราะฉะนั้นในหลายเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าสามารถที่จะดำเนินการได้ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ประโยชน์จะเกิดกับทุกฝ่าย ประโยชน์ข้อแรกก็คือ ประชาชนได้รับทราบสิ่งที่รัฐจะไปตกลงหรือไปดำเนินการตกลง แต่ในเรื่องการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ ก่อนที่จะทำข้อตกลงมันทำได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมก็ยังไม่เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญใน 2 มาตรานี้ จะนำไปสู่เรื่องที่มันแตกต่างไปจากเดิมมากนัก คือถ้าในเหตุผลก็คือ จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ ความจริง 2 เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสงบสุข”

“(ถาม - พูดถึงมาตรา 94 ทางพรรคร่วมฯ ที่หนุนให้แก้ไขเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว เขาบอกว่า เขตเดียวเบอร์เดียวให้ความสำคัญกับประชาชน ทำให้ประชาชนมีเสียงเท่ากัน แต่ทาง ปชป.ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการแก้ ก็จะบอกว่าเขตใหญ่เรียงเบอร์ ป้องกันการซื้อเสียง ทำให้การซื้อเสียงทำได้ยากกว่าเขตเดียวเบอร์เดียว อ.เห็นด้วยมั้ย?) ก็ไม่ได้หมายความว่า การเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ปัจจุบันจะป้องกันการซื้อเสียงได้ทั้งหมด แต่มันก็เป็นเรื่องที่ทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงยากขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปแก้ปัญหาเรื่องของความพยายามของนักการเมืองพรรคการเมืองที่จะดำเนินการซื้อสิทธิขายเสียงของประชาชน อันนั้นไม่ได้เป็นตัวแก้ทั้ง 2 กรณี แต่มันก็ทำให้เกิดความยากกว่า ถ้าหากว่าจะใช้เงินในการซื้อเสียงเท่านั้นเอง ผมมองว่าถ้านักการเมืองมีความประสงค์จะได้ตำแหน่งทางการเมือง โดยใช้การซื้อเสียงเนี่ย ไม่ว่าจะใช้รัฐธรรมนูญแบบใดก็แก้ไขไม่ได้ ป้องกันไม่ได้ มันอยู่ที่ความตระหนักของประชาชนในอันที่จะเลือกหรือไม่เลือกพรรคใด โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก ไม่ได้ไปคำนึงถึงเรื่องซื้อสิทธิขายเสียงของนักการเมือง”


เมื่อถามว่า คิดว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมลงชื่อกับพรรคร่วมรัฐบาลในการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 มาตราดังกล่าว จะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ รศ.ดร.ปกรณ์ บอกว่า ส่วนตัวแล้ว ยังมองไม่เห็นว่าขณะนี้มีอะไรที่คุกคามเสถียรภาพของรัฐบาล พร้อมเชื่อว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่อยากให้มีการยุบสภาในขณะนี้แน่ เพราะยังไม่พร้อมหรับการลงสู่สนามเลือกตั้ง หากยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลจะเปลี่ยนขั้วย้ายข้างไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่นั้น รศ.ดร.ปกรณ์ บอกว่า ยาก เพราะถ้าพรรคเพื่อไทยยังแสดงออกอยู่ว่า ถ้าจะเป็นรัฐบาล ต้องรอคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้น ถึงพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ก็เป็นได้แค่รัฐบาลพลัดถิ่นของ พ.ต.ท.ทักษิณ รศ.ดร.ปกรณ์ ยังเชื่อด้วยว่า แม้รัฐธรรมนูญ 2550 จะเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ แต่จะแก้ได้หรือไม่ คงไม่ใช่ไปถามในสภาอย่างเดียว แต่ต้องถามประชาชนด้วย เพราะการแก้รัฐธรรมนูญจะรวบหัวรวบหางไม่ได้!!
นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดแถลงจุดยืนเรื่องแก้ รธน.2 มาตรา พร้อมแกนนำพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาและพรรคกิจสังคม(25 ม.ค.)
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ส่งสัญญาณเมื่อ 26 ม.ค.พร้อมให้อิสระ ส.ส.ของพรรคฟรีโหวต หากพรรค ปชป.ถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมประชุม ส.ส.พรรค เพื่อลงมติเรื่องแก้ รธน.(26 ม.ค.)
นายชวน หลีกภัย ปธ.สภาที่ปรึกษาพรรค ปชป.ชี้ การเลือกตั้งแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ ทำให้การซื้อเสียงเลือกตั้งทำได้ยากกว่าแบบเขตเดียวเบอร์เดียว
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวระหว่างแถลงเมื่อ 22 ม.ค.ให้พรรค ปชป.ยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย หากการไม่ร่วมแก้ รธน.ทำให้พรรคร่วมฯ ถอนตัวจากรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น