นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานกลางเพื่อหาข้อสรุปในแนวทางดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมกับภาคเอกชน และสำนักงานอัยการสูงสุดในการแก้ไขปัญหาคดีมาบตาพุด โดยที่ประชุมเห็นร่วมกันจะจัดลำดับกลุ่มตามคำสั่งศาลปกครองกลางและตามข้อเสนอของอัยการสูงสุด โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่อาจจะไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มี 10 โครงการ โดยกลุ่มนี้เป็นการดำเนินการที่ไม่ได้เพิ่มกำลังผลิตแต่อย่างใด 2.กลุ่มที่ได้ใบอนุญาตก่อนรัฐธรรมนูญปี 2550 มีผลบังคับใช้ กรณีนี้ไม่รวมถึงการทำอีไอเอ และการได้รับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีประมาณ 3-4 โครงการ 3.กลุ่มที่เทียบเคียงกับ 11 โครงการที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นชอบให้เดินหน้ากิจการได้ โดยในกลุ่มนี้คาดว่าจะมีประมาณ 19 โครงการ และ 4.กลุ่มที่อยู่ในระหว่างสร้างที่มีประมาณ 23 โครงการ กลุ่มนี้ทางอัยการสูงสุด เห็นว่าน่าจะขอยื่นต่อศาลปกครองกลางเพื่อทบทวนคำสั่งระงับกิจการได้ เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่สร้างปัญหามลพิษ ซึ่งประเด็นนี้ทางอัยการสูงสุดพร้อมประสาน 8 หน่วยงานรัฐและภาคเอกชนในการยื่นต่อศาล และสัปดาห์หน้า ทางกระทรวงอุตสาหกรรม จะขอข้อมูลเอกชนเพื่อประกอบการยื่นต่อศาล
นายสรยุทธ กล่าวว่า ทุกกลุ่มพร้อมทำตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ซึ่งกลุ่มที่ 1-2 นั้น ต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อที่จะได้เดินหน้าต่อไป
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการจัดกลุ่มดังกล่าวทำให้มีความชัดเจนในการดำเนินการมากขึ้นจากที่ 64 โครงการมาบตาพุดที่ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ และเกิดผลกระทบมานานนับ 2 เดือน ตั้งแต่มีคำสั่งศาลปกครองกลางในการสั่งระงับกิจการออกมา นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังเห็นร่วมกันว่า ทางภาครัฐจะต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ด้วยการออกกฎระเบียบให้ชัดเจน และย่นย่อการทำงานให้รวดเร็วรัดกุม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลคาดว่าทุกอย่างน่าจะหาข้อยุติได้ภายใน 6-8 เดือน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดผลกระทบยาวนานต่อเนื่อง ซึ่งกรณีกลุ่ม 4 ก็นับว่าจะบรรเทาปัญหาการว่างงานและทำให้การก่อสร้างเดินหน้าได้ตามแผน
นายสรยุทธ กล่าวว่า ทุกกลุ่มพร้อมทำตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ซึ่งกลุ่มที่ 1-2 นั้น ต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อที่จะได้เดินหน้าต่อไป
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการจัดกลุ่มดังกล่าวทำให้มีความชัดเจนในการดำเนินการมากขึ้นจากที่ 64 โครงการมาบตาพุดที่ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ และเกิดผลกระทบมานานนับ 2 เดือน ตั้งแต่มีคำสั่งศาลปกครองกลางในการสั่งระงับกิจการออกมา นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังเห็นร่วมกันว่า ทางภาครัฐจะต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ด้วยการออกกฎระเบียบให้ชัดเจน และย่นย่อการทำงานให้รวดเร็วรัดกุม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลคาดว่าทุกอย่างน่าจะหาข้อยุติได้ภายใน 6-8 เดือน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดผลกระทบยาวนานต่อเนื่อง ซึ่งกรณีกลุ่ม 4 ก็นับว่าจะบรรเทาปัญหาการว่างงานและทำให้การก่อสร้างเดินหน้าได้ตามแผน