นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการหารือร่วมกันกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) วันนี้ (25 ธ.ค.) ว่า กระทรวงพาณิชย์และทีมผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์ มาประชุมหารือร่วมกับ ส.อ.ท. เนื่องจากเป็นห่วงผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย (SMEs) เกี่ยวกับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ที่จะเริ่มมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2553 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการขยายตัวด้านส่งออกที่ตั้งไว้ในปีหน้าว่าจะขยายตัวร้อยละ 14
นางพรทิวา กล่าวว่า ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของกรมส่งเสริมการส่งออกใหม่ทั้งหมด ทั้งในแง่ตัวบุคลากรและการทำงาน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การส่งออกของไทยขยายตัวร้อยละ 13-15 และมีการขยายตัวที่มั่นคงในระยะยาว โดยได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการส่งออกเฉพาะรายสินค้าและตลาด ในการรักษาปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าในตลาดสำคัญ ควบคู่ไปกับการติดตามสถานการณ์ส่งออกอย่างใกล้ชิด ทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้จัดกลุ่มสินค้าส่งออกหลักที่ทำรายได้สูงสุด 10 อันดับด้วย
นางพรทิวา กล่าวว่า ในการประชุมในวันนี้ได้เสนอแผนยุทธศาสตร์รายสินค้าให้ภาคเอกชนได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อนำมากำหนดมาตรการส่งเสริมการส่งออก ให้การส่งออกของไทยในปีหน้า สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ส่วนที่ภาคเอกชนกังวลเกี่ยวกับการเปิดเขตการค้าเสรีอาจจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมรายย่อย หรือ SME นั้น ในกลุ่มอาเซียนจะมีการประชุมหารือเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในแต่ละประเทศให้สามารถแข่งขันได้ ส่วนไทยมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีอยู่แล้ว
ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการหารือร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชนจะขอรับทราบนโยบายการค้าในปี 2553 และปีต่อไป รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทย ภายหลังการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน และภายใต้กรอบ +3 +6 ที่ต้องการให้รัฐบาลวางกรอบนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้เอกชนวางเป้าหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันต่อไป ขณะนี้ภาคเอกชนมีความกังวลใจในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งอยากให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าว ส่วนการส่งออกในปีหน้า คาดว่าจะขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 10-15 ส่วนปีนี้ คาดว่าจะติดลบร้อยละ 10