xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแนะปลุกสำนึกภาคประชาชนให้เข้าถึง "อาเซียน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการสัมมนาเรื่อง "ก้าวต่อไปของภาคประชาชนในอาเซียนยุคใหม่" จัดโดย สถาบันวิจัยสังคม สถาบันเอเชียศึกษา และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน นายสุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนรับรู้ว่าอาเซียนเป็นเรื่องของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลบอกให้ประชาชนเป็นเจ้าภาพ อาจคิดไม่ออกว่าเป็นเจ้าภาพอย่างไร 40 กว่าปีที่ผ่านมาของอาเซียน จึงไม่เป็นที่รับรู้ของภาคประชาสังคมมากนัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า 3 เสาหลักที่ตั้งขึ้นมา คือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น นโยบายในทางปฏิบัติยังมีอุปสรรคมากพอสมควรในการเข้าสู่ภาคประชาสังคม เพราะปรัชญาการรวมกลุ่มของอาเซียน เน้นการรวมตัวกันของความหลากหลายของประชาคม สวนทางกับปรัชญาชาตินิยมที่ถูกปลูกฝังมา ดังนั้น ทำอย่างไรจะปลูกสำนึกให้ประชาคมอาเซียนรู้สึกว่าเป็นประชาชนในภูมิภาคเดียวกัน
นายวิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศในอาเซียนแม้มีการปกครองไม่เหมือนกัน แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ตั้งแต่มีอาเซียน สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องสันติภาพ ส่วนการพัฒนาด้านอื่น ๆ เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม ก่อนมีกฎบัตรอาเซียน อาเซียนมีกรอบดำเนินการอยู่ในหลายเรื่อง แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ดังนั้น จึงมองว่า แผนการดำเนินงานของอาเซียนจะทำได้จริงตามที่เขียนไว้หรือไม่
นายมนัสวี ศรีโสดาพล รองอธิบดีกรมอาเซียน ยอมรับว่า ประชาชนยังไม่รู้จักอาเซียน ซึ่งภาครัฐเร่งดำเนินการให้ทุกภาคส่วนเร่งดำเนินการให้ความรู้ และขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาช่วยปลูกฝังเยาวชนด้วย ที่ผ่านมาอาเซียนเป็นองค์กรหลวม ๆ เมื่อมีกฎบัตรแล้วเป็นเหมือนข้อบังคับของภูมิภาคที่ต้องทำร่วมกัน เพื่อลดความพยายามผลักดันผลประโยชน์ของแต่ละชาติให้น้อยลง ดังนั้น ประโยชน์ที่จะได้รับจะตกอยู่กับประชาชนในประชาคมอาเซียน
นางชนิดา จรรยาเพศ ตัวแทนคณะจัดงานมหกรรมประชาชนอาเซียนฝ่ายไทย กล่าวว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนเพิ่งเข้ามามีส่วนร่วมกับอาเซียนพอสมควร เนื่องจากกฎบัตรทำให้ประชาชนทั้งภูมิภาคต้องผูกติดกัน แต่การยอมรับในระดับภูมิภาคยังไม่มีจุดที่ชัดเจนให้ภาคประชาสังคมเข้าไปยืนอยู่ได้ ดังนั้น ภาครัฐต้องส่งเสริมให้มีช่องทางที่เป็นทางการให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้ในอนาคต
มีรายงานว่า ผู้เข้าร่วมฟังสัมมนาหลายคนได้แสดงความเห็นเช่นกันว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้จักอาเซียนมากนัก แต่ประชาชนต่างให้ความสนใจที่จะเรียนรู้ ขณะเดียวกัน ยังได้เรียกร้องให้อาเซียนตระหนักถึงสิทธิของคนพิการ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตร หากอาเซียนกลายเป็นตลาดเดียว รวมถึงการทำเอฟทีเอกับประเทศอื่น ๆ เช่น จีน อาจทำให้เกษตรกรไทยเสียเปรียบ หากผลผลิตมีต้นทุนสูงกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น