xs
xsm
sm
md
lg

กพช.ผลักดันอี 85 เป็นวาระแห่งชาติ - หนุนลดภาษีรถยนต์อี 85

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า กพช. มีมติเห็นชอบให้มีการส่งเสริมการใช้ E85 แบบครบวงจร และส่งเสริมให้เอทานอลเป็นวาระแห่งชาติ คาดเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติเชิงเศรษฐกิจถึง 447,377 ล้านบาท สร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงาน แบ่งเป็นการลดการนำเข้าน้ำมัน 386,720 ล้านบาท ปรับโครงสร้างการผลิตพืชเกษตรไปสู่พืชพลังงาน สร้างเสถียรภาพราคาพืชผลเกษตร และต่อยอดมูลค่าด้านเกษตรอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่า 60,657 ล้านบาท และยังสามารถลดมลพิษและภาวะโลกร้อนได้ถึง 27.8 ล้านตันต่อปี
สำหรับแนวทางส่งเสริมให้มีการนำเข้าและประกอบรถยนต์ที่ใช้อี 85 ซึ่งเป็น FFV (Flex Fuel Vehicle) จะส่งเสริมเป็นพิเศษในปี 2552-2553 โดยภายในปี 2552 จะลดหย่อนภาษีศุลากรนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป อี 85 จากอัตราปกติ ร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 60 จำนวนประมาณ 2,000 คัน ส่วนภาษีสรรพสามิตให้คงเท่ากับอี 20 ที่ร้อยละ 25 แต่เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้อี 85 จึงจะลดภาระภาษีสรรพสามิตแก่ผู้ซื้อรถยนต์ด้วยการนำเงินกองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิง สนับสนุนร้อยละ 3 หรือเท่ากับว่ามีภาระจ่ายภาษีประมาณร้อยละ 22 เท่านั้น โดยรูปแบบเช่นนี้ เป็นการจัดทำโครงการนำร่องในลักษณะ “Rebate” ให้กับผู้ซื้อรถ FFV ภายในช่วงปี 2552-2553 หลังจากนั้น ครม.คงจะมีการพิจารณาเรื่องความเหมาะสมในการสนับสนุนอี 85 ต่อไป
กพช.ยังมีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน สำหรับโครงการพัฒนาระบบขนส่งจากน้ำมันดีเซล B2 ในอัตรา 0.50 บาทต่อลิตร ให้กลับมาอยู่ที่อัตรา 0.75 บาทต่อลิตรตามเดิม จากที่เคยปรับลดเป็นการชั่วคราวในส่วนของน้ำมันดีเซลที่ กพช. มีมติไว้เมื่อ 12 มี.ค. 51 จะทำให้กองทุนอนุรักษ์ฯ มีรายรับเพิ่มขึ้นอีก 483 ล้านบาท/เดือน จาก 131 ล้านบาท/เดือน เป็น 614 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 7,368 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างราคาระหว่างดีเซล B5 และ B2 เพิ่มเป็น 1.50 บาท/ลิตร คาดว่าจะเป็นส่วนเสริมให้มีการใช้ไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มมากขึ้น โดยจะมีผลหลังคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบ
นอกจากนี้ กพช.ยังตัดสิทธิพิเศษของบางจากฯ ในการจัดขายน้ำมันเชื้อเพลิงของส่วนราชการและ รัฐวิสาหกิจจำนวนตั้งแต่ 10,000 ลิตรขึ้นไป เนื่องจากปัจจุบันนี้ บางจากฯ พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติม (Supplemental Agreement) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าปริมาณซื้อขายสูงสุด 300 เมกะวัตต์ จากการไฟฟ้าของมาเลเซียหรือ TENAGA NASIONAL BERHAD (TNB) และมีมติรับทราบการขอยกเลิก Tariff MOU ของกลุ่มผู้ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้แก่ โครงการหงสาลิกไนต์ น้ำเงี๊ยบ และน้ำอู รวมทั้งรับทราบโครงการที่ Tariff MOU หมดอายุแล้วอีก 2 โครงการ คือ น้ำเทิน 1 และน้ำงึม 3 และได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานไปพิจารณาความจำเป็นและเหมาะสมในการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น