xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริหารแผน"เอสวี การ์เดน"แจงเหตุแผนฟื้นฟูเหลว-ยันทำเต็มที่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปีเตอร์ โนเอล ชีฟฟิวไบน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอสเซท แพลนเนอร์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการให้กับ บริษัท พระราม 3 แลนด์ จำกัด เปิดเผยกรณีสมาชิกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ซื้อห้องชุด เอส วี การ์เด้น ประท้วงต่อกรณีที่ศาลจะสั่งให้โครงการเอสวี การ์เดน ล้มละลาย ว่า โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2538 ในนามบริษัท พระราม 3 แลนด์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัท สหวิริยาซี้ตี้ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวฮ่องกง และสหวิริยา แต่เมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี 2540 และปิดสถาบันการเงินทั้ง 56 แห่ง ทำให้โครงการขาดแหล่งเงินทุน ส่งผลให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้โครงการเกิดความเสียหาย ซึ่งบริษัท พระราม 3 แลนด์ จำกัด ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อปี 2544 และตกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหนี้
บริษัท แอสเซท แพลนเนอร์ จำกัด เข้ามาเป็นผู้บริหารบริษัท พระราม 3 แลนด์ แทนกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมที่สูญสิ้นอำนาจบริหารไปนับตั้งแต่บริษัท พระราม 3 แลนด์ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ในปี 2544 โดยเป็นการบริหารภายใต้การควบคุมของเจ้าหนี้รายใหญ่ 2 รายคือ บสท. ที่เป็นเจ้าหนี้สัดส่วน 27% และบริษัท สหวิริยา ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นเจ้าหนี้สัดส่วน 21% ซึ่ง บมจ.สหวิริยาซิตี้ นี้ ก็อยู่ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้การควบคุมของเจ้าหนี้ ซึ่งมี บสท. เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่เช่นกัน
นายปีเตอร์ กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหารแผนฯ ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการดำเนินการเพื่อให้สำเร็จตามแผนฟื้นฟูฯ โดยการสรรหากลุ่มผู้ลงทุนรายใหม่หลายรายเข้ามาดำเนินโครงการตามแผน แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากนักลงทุนเกรงว่าจะไม่ได้รับความร่วมมือจากจากเจ้าหนี้รายใหญ่ ซึ่งแสดงความเห็นในเชิงคัดค้านมาโดยตลอด ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน
ส่วนเหตุที่นักลงทุนให้ความสำคัญต่อเจ้าหนี้รายใหญ่เนื่องจากตามกฎหมาย เจ้าหนี้มีประกันรายใหญ่จะเป็นผู้มีสิทธิในทรัพย์สินของบริษัท พระราม 3 แลนด์ สูงกว่าเจ้าหนี้อื่น ส่วนท้ายที่สุดเมื่อโครงการได้มีการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูฯ จนครบกำหนดเวลา 6 ปี ซึ่งไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงทำให้แผนดังกล่าวสิ้นสุดลงและอาจจะเข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ขณะที่สมาชิกสมาชิกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ซื้อห้องชุด เอส วี การ์เด้น รายหนึ่ง กล่าวว่า บสท.จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ของบริษัท พระราม 3 แลนด์ จำกัด เพราะมีสัดส่วนหนี้มากที่สุด 27% ขณะที่บริษัท สหวิริยา ซี้ตี้ จำกัด แม้จะมีสัดส่วน 21% แต่ปัจจุบันบริษัทก็ถูกศาลสั่งล้มละลาย จึงไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียง เพราะถูกควบคุมโดย บสท.ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ โดยมีสัดส่วนมากกว่า 50% ในบริษัทแห่งนี้ ซึ่งเท่ากับว่า บสท. มีอำนาจสิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทพระราม 3 และการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ผ่านบริษัทสหวิริยาซี้ตี้ ในการโหวตเอาไม่เอาต่อแผนการฟื้นฟูโครงการ เอสวี การ์เดน
"ปัญหาประการหนึ่งที่ไม่สามารถฟื้นฟูกิจการโครงการคอนโดมีเนียมพระราม 3 ได้ เนื่องจากเจ้าหนี้ ต่างก็อยากให้กลุ่มนักลงทุนที่ตนเองหาเข้ามาใหม่ได้โครงการฯ เพื่อหวังค่าคอมมิชชั่น ซึ่งมีผู้ลงทุนใหม่ทั้งชาวไทย มาเลเซีย และเกาหลี แต่ท้ายสุดไม่สามารถตกลงกันได้ ประกอบกับการก่อสร้างโครงการที่ถูกทิ้งไว้นานมากกว่า 10 ปี ทำให้เป็นประเด็นที่ผู้ลงทุนใหม่ไม่มั่นใจที่จะก่อสร้างโครงการต่อไปจึงนำไปสู่การไม่สามารถฟื้นฟูกิจการในที่สุด"
กำลังโหลดความคิดเห็น