xs
xsm
sm
md
lg

พณ.รับ FTA อาเซียน-อียู เอื้อภาคเกษตร-กระทบอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวเก็จพิรุณ เกาะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการส่วนยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในการสัมมนา "นานาทัศนะต่อการทำ ASEAN-EU FTA" ซึ่งจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลประกอบในการประชุมคณะกรรมการร่วมจัดทำความตกลงการค้าเสรี อาเซียน- สหภาพยุโรป (อียู) ครั้งที่ 6 ที่ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคมนี้ ว่า จากผลการศึกษาของ กลุ่ม Vision group on ASAEN – EU Economic Partnership สรุปว่า หากไทยเปิดเขตการค้าอาเซียน - อียู จะทำให้ตัวเลข GDPและตัวเลขการนำเข้า-ส่งออกของไทยโตขึ้น ในช่วง 1-3 ปีแรกประเทศไทยอาจยังไม่ได้รับประโยชน์มากนัก แต่ในช่วง 4-10 ปีหลัง จะได้รับประโยชน์มากขึ้น
นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ นักวิชาการพาณิชย์ 9 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การเจรจาจะทำให้ไทยเสียภาษีส่งออกสินค้าเกษตรลดลง เพราะปัจจุบันอียูเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าเกษตรสูงมาก
ดร.ปิยะนุช มาลากุล ณ อยุธยา กรรมการคณะกรรมการร่วม ASEAN-EU FTA (กกร.) กล่าวว่า สินค้าไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี คือ กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ แป้ง ข้าวสาลี ของปรุงแต่งในการเลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และกลุ่มเหล็ก
อย่างไรก็ตาม นายชนะ คณารัตนาดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เคยระบุว่า จากการศึกษาข้อมูลการเปิดเสรีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็ก ทางกลุ่มเหล็กแจ้งว่าไม่มีข้อกังวล แต่หากอียูเพิ่มสมาชิกที่มาจากสหภาพโซเวียตเก่า เช่น กลุ่ม CIS และยูเครน จะทำให้กลุ่มเหล็กมีปัญหาได้ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีการผลิตและส่งออกเหล็ก
โดยแนวทางที่เสนอ คือ ไทยควรจะมีโรงถลุงเหล็ก เพื่อไม่ต้องพึ่งพาเหล็กนำเข้า และไม่โดนการกำหนดราคาโดยกลุ่มผู้ผลิตเหล็ก 6 รายใหญ่ของโลก เนื่องจากการซื้อขายสินแร่เหล็กจะทำสัญญาส่งสินค้าให้โรงถลุงเหล็ก 3-5 ปี และกำหนดราคาตายตัวตามระยะเวลาของสัญญา
รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สหภาพยุโรปถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับสองของไทย รองจากอาเซียน โดยเฉพาะเป็นตลาดสำคัญของสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และ อุตสาหกรรม ดังนั้นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - อียู จึงอาจนำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและเศรษฐกิจของไทย และจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ระหว่างกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น