xs
xsm
sm
md
lg

"อภิรักษ์"หนาว! ผู้สมัครฯ มีหนวดคะแนนนิยมเพิ่มเกือบเท่าตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง "ศึกษาความตั้งใจจะไปเลือกตั้งของประชาชน และปัญหาชุมชนในทรรศนะแกนนำชุมชน ช่วงโค้งสอง เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม." จำนวนทั้งสิ้น 3,275 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 9-17 กันยายน 2551 พบว่าคนกรุงเทพฯ รับรู้วันเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 39.0 ช่วงต้นเดือนกันยายน มาอยู่ที่ร้อยละ 68.5 ในการสำรวจล่าสุดกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา และถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อยู่ในช่วงร้อยละ 66.5 ถึงร้อยละ 76.5
ส่วนปัญหาด่วน 3 อันดับแรกที่ต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม. เร่งแก้ไขคือ ร้อยละ 78.1 ระบุการจัดระเบียบสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กและเยาวชน และปัญหาสถานบันเทิงในย่านที่พักอาศัย ในขณะที่ร้อยละ 76.4 ระบุปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ และร้อยละ 75.2 ปัญหาจราจรติดขัด
ส่วนคุณสมบัติของผู้ว่าฯ ที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ ยังคงเป็นเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 84.5 ความมีวิสัยทัศน์กว้างไกล รู้จักป้องกันปัญหา ร้อยละ 78.9 ความกล้าคิด กล้าทำ เด็ดขาด ร้อยละ 77.0 มีผลงานเห็นได้ชัดร้อยละ 74.2 ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ร้อยละ 72.3 และร้อยละ 71.8 ระบุเข้าถึงใกล้ชิดประชาชน อันดับรองๆ ลงไปเป็นพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ รวดเร็วฉับไว แก้ปัญหาเดือดร้อนประชาชน เป็นผู้ประสานงานที่ดี และมีการศึกษาดี ตามลำดับ
นายนพดล กล่าวว่า จากการวิเคราะห์คะแนนนิยมของสาธารณชนคนกรุงเทพฯ ต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง พบว่าค่าคะแนนของผู้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากประชาชนที่ถูกศึกษาครั้งนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ค่อนข้างนิ่ง แต่มีแนวโน้มเริ่มลดต่ำลงเล็กน้อย แต่ที่น่าจับตามองคือ ผู้สมัครที่มีหนวดทั้งสองคนมีค่าคะแนนนิยมที่ยังไม่นิ่ง คนหนึ่งค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่อีกคนหนึ่งกำลังได้รับคะแนนนิยมเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ถ้าคะแนนสองคนนี้รวมกันอาจจะชนะผู้ที่กำลังมีคะแนนนำอยู่ได้ ซึ่งคณะผู้วิจัยจะนำเสนอค่าคะแนนนิยมของประชาชนที่ค้นพบอย่างชัดเจนในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าหากประชาชนคนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิเลือกตั้งเล็งเห็นว่าเสียงของตนเองไม่สำคัญ เพราะคนที่กำลังมีคะแนนนำอยู่ขณะนี้จะชนะการเลือกตั้งแน่ๆ ประชาชนที่คิดเช่นนี้อาจไม่ไปเลือกตั้ง โดยมีเหตุผลเล็กๆ น้อยๆ เช่น ฝนตกหนัก เหตุเบื่อหน่ายทางการเมือง หรือติดธุระเล็กๆ น้อยๆ ก็จะตัดสินใจไม่ไปเลือกตั้ง ผลที่อาจตามมาก็คือคนที่กำลังมีคะแนนนิยมนำอยู่ในผลสำรวจมีโอกาสแพ้การเลือกตั้งได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น