xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชี้การเมือง-เศรษฐกิจ ทำคนไทยสุขลดลงต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยผลวิจัยความสุขมวลรวมคนไทย เดือนกรกฎาคม 2551 พบความสุขลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ความทุกข์เพิ่มขึ้น ความสุขด้านบรรยากาศการเมืองและสภาวะเศรษฐกิจได้คะแนนน้อยที่สุด ระบุภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีความสุขที่สุด อีสานสุขต่ำสุด เผยหากใช้ชีวิตพอเพียงอย่างเคร่งครัดช่วยให้มีความสุขได้


ดร.นพดล กรรณิกา หัวหน้าศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ความสุขมวลรวมของคนไทย 18 จังหวัด จากทุกภูมิภาค ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2551 จำนวน 3,427 ตัวอย่าง พบว่า ค่าคะแนนความสุขมวลรวมของประชาชน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ลดลงจาก 6.30 ในเดือนเมษายน มาอยู่ที่ 6.08 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งถือว่าลดลงอย่างมาก จากที่เคยมีคะแนนสูงสุดในเดือนตุลาคม ปี 2550 ถึง 6.90 คะแนน ขณะเดียวกัน ยังพบว่าความทุกข์ของคนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 4.39 คะแนนในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นเป็น 4.90 ในเดือนเมษายน และล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ความทุกข์ของคนไทยเพิ่มเป็น 5.29 คะแนน

ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความสุขมวลรวมของคนไทย คะแนนสูงสุด คือ เรื่องความจงรักภักดี 9.28 คะแนน รองลงไปคือบรรยากาศภายในครอบครัว 7.20 คะแนน ด้านการทำงาน 7.06 ด้านวัฒนธรรมประเพณี 6.86 ด้านการบริการสาธารณสุข หรือการแพทย์ 6.70 ด้านสุขภาพกาย ได้ 6.69 ด้านสภาพแวดล้อมที่พักอาศัยได้ 6.50 ด้านสุขภาพใจได้ 6.42 ด้านบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนภายในชุมชนได้ 6.21 ด้านความเป็นธรรมทางสังคมได้ 5.54 โดยปัจจัยที่ได้คะแนนความสุขต่ำสุด คือ บรรยากาศทางการเมืองได้ 3.99 และสภาวะเศรษฐกิจ 3.83 คะแนน

ภูมิภาคที่คนมีคะแนนความสุขเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5.81 คะแนน และยังมีคะแนนแต่ละด้านต่ำที่สุดด้วย ส่วนคนในภาคใต้มีคะแนนความสุขมวลรวมสูงที่สุดเป็นครั้งแรก นับแต่ทำการวิจัย คือ เฉลี่ยอยู่ที่ 6.31 คะแนน ส่วนภาคเหนือได้ 6.23 ภาคกลางได้ 6.21 กรุงเทพมหานครได้ 6.19 คะแนน โดยคนกรุงเทพฯ มีคะแนนความสุขต่ำสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น ในด้านบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนภายในชุมชนและสุขภาพกาย ทั้งนี้ ทุกภาคให้คะแนนความสุขในบรรยากาศทางการเมืองและสภาวะเศรษฐกิจต่ำกว่าครึ่งทั้งสิ้น

นอกจากนี้ คนไทยร้อยละ 23.9 ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 22.7 ในเดือนเมษายน ซึ่งคนกลุ่มนี้ร้อยละ 63.8 มีความสุขมวลรวมระดับมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 10.3 มีความสุขน้อยถึงไม่มีความสุขเลย ส่วนคนที่ใช้ชีวิตแบบพอเพียงน้อยถึงไม่ใช้เลย ร้อยละ 45.5 มีความสุขมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 20.0 มีความสุขน้อยถึงไม่มีความสุขเลย

“ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า การเพิ่มสุขภาพใจให้กับประชาชน เช่น ช่วยให้ประชาชนไม่กังวล ไม่เครียด ไม่ถูกกดดัน จะช่วยทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความสุขมวลรวมเพิ่มมากขึ้น การมุ่งเน้นเรื่องวัฒนธรรมประเพณีให้คนภาคใต้และเรื่องสภาพแวดล้อมดิน น้ำ อากาศให้คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะช่วยให้สถานการณ์ความสุขของประชาชนดีขึ้น นอกจากนี้ ผลวิจัยยืนยันอีกครั้งว่า คนที่ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเคร่งครัด จะมีความสุขมากกว่าคนที่ใช้ชีวิตแบบไม่พอเพียง” ดร.นพดล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น