xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ไทยแพ้คดี"พระวิหาร"เพราะยอมรับอำนาจขอบเขตศาลโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก่อนหน้านี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรแห่งราชอาณาจักรไทยประจำสหประชาชาติ ทำหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ชี้แจงข้อกล่าวหาที่ฝ่ายกัมพูชาทำหนังสือมาก่อนหน้านี้ โดยแจ้งให้ทราบถึงการแก้ไขปัญหาที่มีการดำเนินการอยู่ด้วยการเจรจาแบบทวิภาคี ผ่านการจัดประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย - กัมพูชา และกล่าวถึงท่าทีของกลุ่มประเทศอาเซียนที่สนับสนุนการแก้ปัญหาแบบทวิภาคี ในส่วนของพื้นที่พิพาทรอบตัวปราสาท ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างสิทธิ์นั้น ได้มีการชี้แจงว่า พื้นที่พิพาทส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของเขตแดนไทยเช่นกัน และเห็นว่าการอ้างสิทธิ์ของกัมพูชาในพื้นที่ส่วนนี้ เกิดจากความเข้าใจผิดฝ่ายเดียวของกัมพูชา ที่เห็นว่าศาลโลกได้ตัดสินเส้นเขตแดนแล้วเมื่อปี 2505 ที่ยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา โดยยืนยันว่า ศาลโลกยังไม่ได้มีการตัดสินเรื่องแนวเขตแดน
ระหว่างการเจรจากรรมการชายแดนทั่วไปที่ จ.สระแก้ว ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ในเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่พิพาททางตอนเหนือและตะวันตกของตัวปราสาท โดยนายวา คิม ฮง ที่ปรึกษาพิเศษด้านกิจการชายแดนของกัมพูชา ยืนยันว่า พื้นที่ 2,500 ไร่ อยู่ในเขตแดนของกัมพูชา ในขณะที่ฝ่ายไทยก็ยืนยันในลักษณะเดียวกัน ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมออกไป
พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวก่อนออกเดินทางไปอินโดนีเซีย แสดงความกังวลหากมีการนำเรื่องพิพาทระหว่างไทย - กัมพูชา ขึ้นสู่ศาลโลกอีกครั้ง เนื่องจากไทยเคยมีบทเรียนมาก่อนหน้านี้แล้ว
ขณะที่ ศ.จุมพต สายสุนทร ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศควรมีการตรวจสอบว่าหนังสือยินยอม หรือยอมรับในขอบเขตอำนาจศาลโลก หมดอายุแล้วหรือยัง โดยกล่าวว่า สาเหตุที่ไทยแพ้คดีปราสาทพระวิหาร เพราะมีหนังสือยินยอมหรือยอมรับขอบเขตอำนาจศาลโลก ตั้งแต่สมัยองค์การสันนิบาตชาติ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นองค์การสหประชาชาติ ซึ่งในขณะนั้นไทยได้ปฏิเสธขึ้นศาลโลก แต่ศาลโลกได้พิจารณาว่า ไทยเคยทำหนังสือยอมรับขอบเขตอำนาจศาลโลก ทำให้ไม่สามารถปฏิเสธการขึ้นศาลโลกได้
ศ.จุมพต เห็นว่าการตัดสินของศาลโลกไม่ใช่เป็นการพิจารณาเฉพาะข้อกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ และการล็อบบี้แทรกแซงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จะประชุมฉุกเฉินกรณีปัญหาพื้นที่พิพาทใกล้ปราสาทพระวิหาร ตามที่กัมพูชาร้องขอ ว่า ไม่จำเป็นที่ยูเอ็นจะเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะไทยและกัมพูชาได้พูดคุยมาแล้ว และยังมีเวทีอาเซียนให้ได้เจรจากันอีก ดังนั้นรัฐบาลควรเปิดเกมรุกทางการทูต โดยนายกรัฐมนตรีต้องมีท่าทีชัดเจนในการทำหนังสือชี้แจงไปยังยูเอ็น ว่าทั้งสองประเทศจะคุยกันในระดับทวิภาคี พร้อมต้องแจ้งไปยังกัมพูชาให้ไว้ใจ และให้เกียรติกัน ไม่ควรยกระดับปัญหาสู่เวทีโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น