“ผบ.สส.” แนะผู้นำไทย-เขมร จับมือเคลียร์ข้อพิพาท “เขาพระวิหาร” พร้อมเตือนไทยต้องระวังบทเรียนในอดีตจากการขึ้นศาลโลก ชี้ไทยมีสิทธิเลือกขึ้นหรือไม่ขึ้นคู่เขมรก็ได้ แนะ “บัวแก้ว” เร่งทำความเข้าใจต่อนานานชาติ ล่าสุด "ทูตฯไทย" เผย"ยูเอ็น"รับเรื่อง"พระวิหาร"เป็นวาระฉุกเฉินแล้ว
วันนี้ (23 ก.ค.) พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) กล่าวก่อนเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการระดับสูงที่ประเทศอินโดนีเซีย ถึงกรณีพิพาทปัญหาปราสาทพระวิหาร ระหว่างไทย-กัมพูชาว่า จะใช้โอกาสนี้ชี้แจงทำความเข้าใจกับอินโดนีเซีย ยืนยันว่าการหารือระดับทวิภาคียังเป็นช่องทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหานี้ แต่หากการหารือคณะกรรมการชายแดนทั่วไป หรือ จีซีบี ไม่เป็นผล ควรให้ผู้นำระดับสูง 2 ประเทศหารือ เนื่องจากมีอำนาจตัดสินใจ และหากกัมพูชาจะนำกรณีพื้นที่ทับซ้อนขึ้นศาลโลก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า ไทยต้องระวังเพราะมีบทเรียนจากอดีตมาแล้ว แต่ไทยมีสิทธิเลือกจะขึ้นศาลโลกคู่กัมพูชาหรือไม่ก็ได้
ผู้บัญการทหารสูงสุด กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศต้องเร่งชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อนานาชาติ โดยขณะนี้จำนวนทหารไทยในพื้นที่มีน้อยกว่าทหารกัมพูชา จึงไม่น่าหวั่นวิตกต่ออธิปไตยหรือการเสียบูรณภาพแห่งดินแดนตามที่กัมพูชาชี้แจงต่อนานาชาติ ทั้งนี้ในการประชุมจีซีบี ไทย-กัมพูชา ยืนยันว่าจะไม่มีการเพิ่มกำลังทหารในพื้นที่ ขณะเดียวกันตนเองได้กำชับไม่ให้ทหารไทยกระทำการใดๆ เป็นเหตุจุดชนวนให้สถานการณ์ตึงเครียด
ด้าน นายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูต และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ กล่าวถึงกรณีข่าวที่ระบุว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะจัดประชุมฉุกเฉินกรณีข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเขาพระวิหารว่า เป็นความต้องการของกัมพูชา ที่ต้องการให้สหประชาชาติประชุมฉุกเฉินในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ โดยในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ค.) กระบวนการแรกในสหประชาชาติจะเริ่มขึ้น เพราะหนังสือของกัมพูชาจะเวียนถึง 15 ประเทศสมาชิก ซึ่งที่ประชุมก็จะพิจารณาดูว่าจะดำเนินการตามที่ร้องขอหรือไม่ ในส่วนของประเทศไทยได้ทำหนังสือเวียนไปแล้วเช่นกัน โดยระบุว่าปัญหาดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายกำลังดูแลอยู่ และมีปัญหากันมานานแล้ว
นายดอน กล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าวสหประชาชาติจะรับไต่สวนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งประเทศไทยต้องติดตามผลดังกล่าวจึงจะดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ หากมีประชุมจริง ผลจะเกิดประเทศไทยจะเป็นอย่างไร แต่เราบอกแล้วตั้งแต่ต้นว่าไม่อยากให้มีการประชุม เพราะเหมือนกระทบฐานของอาเซียน
ผู้สื่อข่าวรายงานล่าสุด นายดอน ให้สัมภาษณ์ว่า ทางองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ได้บรรจุคำร้องของกัมพูชาที่ต้องการให้สหประชาชาติเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทปัญหาเขาพระวิหารเป็นวาระฉุกเฉินแล้ว ขณะที่ทางกัมพูชาพยายามรวบรัดดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามข้อบังคับของยูเอ็น ที่เมื่อมีประเทศร้องเรียนปัญหาเข้ามา ก็สามารถเรียกประชุมฉุกเฉินได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยไม่คาดคิดมาก่อน โดยขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด กำลังหาแนวทางเพื่อกำหนดท่าทีที่ชัดเจนของไทย
ทั้งนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานโดยตรงในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว มีสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ โดยมีจีน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา รัสเซียและอังกฤษ เป็นสมาชิกถาวร และอีก 10 ประเทศจะหมุนเวียนกันไป โดยขณะนี้มีประเทศเวียดนาม เป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียเพียงประเทศเดียว ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอยู่ในขณะนี้ ซึ่งไทยมีความหวังจากท่าทีของเวียดนามในขณะนี้ที่ยังวางตัวเป็นกลางในเรื่องนี้อยู่