xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช. - คตส. มีมติตั้ง คกก.ร่วมพิจารณาถ่ายโอนคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อถ่ายโอนคดีหลัง คตส. พ้นหน้าที่ในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 นายสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) และนายกล้านรงค์ จันทิก เลขาธิการ และโฆษก ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกัน โดยมีผู้แทนของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อพิจารณาจำแนกคดีที่จะถ่ายโอนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ป.ป.ช. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมสรรพากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ในหลักกฎหมาย ป.ป.ช. จะรับผิดชอบทุกคดีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาเพื่อดำเนินการต่อ เช่น หากอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบพยานหลักฐานและไต่สวนก็จะดำเนินการต่อ หรือ หากอยู่ระหว่างส่งอัยการสูงสุดสั่งฟ้องต่อศาล แต่อัยการมีความเห็นแตกต่าง ป.ป.ช. ก็จะตั้งคณะทำงานพิจารณาร่วมกับอัยการสูงสุด โดยสามารถนำบุคลากร จาก คตส. ที่เคยทำคดีอยู่มาเป็นคณะทำงานร่วมได้ ซึ่งหากไม่มีข้อสรุปอีก ป.ป.ช. ก็สามารถสั่งฟ้องต่อศาลเองได้ นอกจากนี้ ป.ป.ช. จะรับผิดชอบเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณให้กับ คตส. และดูแลค่าใช้จ่ายในคดีที่ คตส. ถูกฟ้อง 19 คดี ตามมติคณะรัฐมนตรี
ด้านนายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส.ชี้แจงว่า คดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของ คตส. แยกเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล คือ คดีการจัดซื้อดินย่านรัชดา คดีหวยบนดิน และการหลบเลี่ยงภาษีของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ส่วนคดีการจัดซื้อกล้ายางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง คตส.มีมติสั่งฟ้องเองหลังอัยการสูงสุดมีความเห็นต่าง
นอกจากนี้ เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการส่งให้อัยการสูงสุดแต่ยังไม่ครบกำหนดสรุปความเห็น คือ คดีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ ปล่อยกู้แก่รัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีกหลายคดี คือ คดีซีทีเอ็กซ์ 9000 แอร์พอร์ตลิงก์ การจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. เซ็นทรัลแล็บ และธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้แก่บริษัทในเครือกฤษดามหานคร ส่วนคดีเกี่ยวกับการอายัดทรัพย์สิน 65,000 ล้านบาทนั้น เป็นเรื่องที่ คตส.จะเร่งพิจารณาให้เสร็จสิ้นเองก่อน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่ได้หยิบยกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญลดอายุการทำงานของ ป.ป.ช. ขึ้นหารือ แต่นายกล้านรงค์ ยืนยันว่า ป.ป.ช.จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หากมีการแก้ไขกำหนดวาระ ป.ป.ช.สิ้นสุดลงอย่างไร ก็จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยมาตรฐานเดิมไม่ท้อถอย จนกระทั่งวันสุดท้ายที่จะอยู่ได้ตามกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น