สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน แถลงข่าว "ปิดเทอมใหญ่ หัวใจพ่อ-แม่ -ว้าวุ่น" โดย นายธเนศ ต.แสงจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแสงวิทยา จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จากงานวิจัยพฤติกรรมของเด็กช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคม 2550 ซึ่งสุ่มตัวอย่างผู้ปกครองและเด็ก อนุบาล - ม. 3 พบว่า เพียง 1 เดือน เด็กมีน้ำหนักเพิ่มเฉลี่ย 1.5 กิโลกรัม และบางคนขึ้นสูงสุดเกือบ 2 กิโลกรัม เนื่องจากช่วงปิดเทอมผู้ปกครองส่วนใหญ่มักให้เด็กทานอาหารเช้าที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และให้เงินเด็กไว้ซื้ออาหารรับประทานเอง เกือบร้อยละ 70 ยอมรับว่า รู้ว่าเด็กเอาเงินไปซื้อน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบตามโฆษณา แต่ไม่ห้ามปราม ขณะที่กิจกรรมที่เด็กทำช่วงปิดเทอม คือ ดูโทรทัศน์ นอน ไม่ออกกำลังกาย พฤติกรรมเหล่านี้ ทำให้เด็กอ้วน ดังนั้น ในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ 2 เดือน เด็กจึงอาจน้ำหนักขึ้นได้เกือบ 4 กิโลกรัม หากยังปล่อยให้เด็กมีพฤติกรรมแบบเดิม จึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง หากปล่อยให้เด็กกินแบบไม่มีวินัย อาจจะกลายเป็นเด็กอ้วนสุขภาพอ่อนแอได้