xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ปิดเทอมใหญ่ 2 เดือน เด็กน้ำหนักพุ่งเฉียด 4 กิโล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


งานวิจัย ชี้ ปิดเทอมใหญ่ 2 เดือน เด็กน้ำหนักพุ่งเฉียด 4 กิโล เหตุพ่อ-แม่ เผลอรังแกลูกไม่รู้ตัว เปลี่ยนตู้เย็นเป็นโกดังน้ำอัดลม-เครื่องดื่มบำรุงไขมัน แถมให้เงิน ปล่อยซื้อของกินตามใจ เตือนร้อนนี้อย่าเผลอปากไปกับไอติม-ข้าวเหนียวมะม่วง แพทย์ห่วงเด็กอ้วน หากป่วยไข้เลือดออก-หอบ แล้วรักษายาก ชี้อืดมากมีผลกับสูงไม่เต็มที่ เผยวัยรุ่นโร่หาหมอเพราะโรคอ้วนเป็นอันดับหนึ่ง แนะ 3 ไม่ 3 ต้อง

เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน แถลง “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจพ่อ-แม่ ว้าวุ่น”โดย ผศ.ทพญ.ปิยะนารถ จาติเกตุ กล่าวว่า การสำรวจ “พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มของเด็กขณะอยู่ที่บ้าน” ของนักเรียนชั้น ป.6 – ม.3 ใน 14 จังหวัด จำนวน 8,400 คน พบ นอกจากดื่มน้ำเปล่า เครื่องดื่มที่เด็กดื่มเป็นประจำ ได้แก่ 1.นมจืด 61% 2.นมเปรี้ยว 55% 3.นมปรุงแต่งรสหวาน 51% 4.น้ำอัดลม 51% 5. น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำปั่น 46% 6.นมถั่วเหลือง 44% ซึ่งเด็กกว่าครึ่งบอกว่าเลือกดื่มเครื่องดื่มดังกล่าว เพราะหยิบง่ายมากที่สุด และเหตุผลอื่น ได้แก่ คิดว่าดื่มแล้วแข็งแรง ชอบรสชาติ อยากตัวโต และอยากฉลาด ดื่มตามพ่อแม่หรือคนในบ้าน “เด็กจะดื่มอะไรที่บ้าน ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองซื้ออะไรเก็บไว้ การสำรวจผู้ปกครอง 639 คน ถึงเหตุผลในการเลือกซื้อเครื่องดื่ม 71% บอกซื้อเพราะมีประโยชน์ต่อร่างกาย 62% เลือกตามที่เด็กชอบ ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรเลือกเครื่องดื่มที่มีประโยชน์จริงๆ หากตามใจเด็ก ปล่อยให้ดื่มนมเปรี้ยว นมปรุงแต่งรส น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำปั่น และ นมถั่วเหลือง เวลาอยู่บ้าน จะทำให้เด็กได้รับน้ำตาลมากเกินความจำเป็น เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน ขณะใช้ชีวิตอยู่บ้านในช่วงปิดเทอมใหญ่” ผศ.ทพญ.ปิยะนารถ กล่าว

นายพเนศ ต.แสงจันทร์ ผอ.โรงเรียนแสงวิทยา จ.สระบุรี กล่าวว่า งานวิจัยพฤติกรรมของเด็ก ช่วงปิดเทอมเดือน ต.ค. 2550 สุ่มตัวอย่างผู้ปกครองและเด็ก อนุบาล-ม.3 พบว่า เพียง 1 เดือน เด็กมีน้ำหนักเพิ่มเฉลี่ย 1.5 กก.และบางคนขึ้นสูงสุดเกือบ 2 กก.เนื่องจากช่วงปิดเทอม ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ระบุว่า ให้เด็กทานข้าวเหนียวหมูปิ้งและก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารเช้า เพราะง่ายต่อการจัดหา และบอกว่าก๋วยเตี๋ยวที่ทานโดยเฉพาะเด็กอนุบาล จะทานแต่เส้น ไม่ยอมทานผักหรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์ ส่วนอาหารมื้ออื่น ผู้ปกครองที่ส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้าน จะให้เงินบุตรหลานไว้ซื้ออาหารทานเอง

นายพเนศ กล่าวอีกว่า วันหยุดผู้ปกครองจะให้เงินเด็กมากกว่าไปโรงเรียน ยิ่งผู้ปกครองฐานะดี จะให้เงินเด็กมาก เกือบ 70% ยอมรับว่า รู้ว่าเด็กเอาเงินไปซื้อน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบตามโฆษณาและมักมีน้ำอัดลมไว้ในตู้เย็น หากมีเวลาอยู่กับเด็ก ถ้าเด็กบอกว่าหิว จะให้ทานตามที่ต้องการ คือ กินจุบกินจิบ ส่วนกิจกรรมที่เด็กทำช่วงปิดเทอม คือ ดูโทรทัศน์ นอน ไม่ออกกำลังกาย พฤติกรรมเหล่านี้ของผู้ปกครองและเด็ก ทำให้เด็กอ้วน ทั้งนี้ปิดเทอมเพียงเดือนเดียวเด็กน้ำหนักขึ้นเกือบ 2 กก.ในช่วงนี้ที่เป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ 2 เดือน เด็กจึงอาจน้ำหนักขึ้นได้เกือบ 4 กก.

“แม้ผู้ปกครองส่วนใหญ่กังวลกับสุขภาพของเด็ก แต่ไม่ได้เห็นว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ยังปล่อยให้เด็กมีพฤติกรรมแบบเดิม น่าเป็นห่วงมาก และยิ่งอากาศร้อนแบบนี้ เด็กจะทานไอศกรีมกันมาก และยังมีข้าวเหนียวมะม่วง ที่เป็นอาหารตามฤดูกาลด้วย ถ้าปล่อยให้เด็กกินแบบไม่มีวินัย พวกเขาจะกลายเป็นเด็กอ้วนสุขภาพอ่อนแอ”นายพเนศ กล่าว

นพ.สุริยเดว ทริปาตี โฆษกเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และหัวหน้าคลินิกเพื่อนวัยทีน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาตมหาราชินี กล่าวว่า การมีวินัยในการรับประทาน เป็นบันไดขั้นแรกของการฝึกทักษะทางอารมณ์หรืออีคิวให้เด็ก และป้องกันพวกเขาจากผลกระทบของโรคอ้วน ความอ้วนนอกจากเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่นเบาหวาน เด็กที่มีน้ำหนักเกินหากป่วยเป็นโรคติดต่อ เช่น ไข้เลือดออก โรคหอบ จะรักษายากกว่าเด็กน้ำหนักปกติ ซึ่งเด็กที่มีน้ำหนักเพิ่มมากจากการกินที่ไม่เหมาะสม จะมีผลต่อส่วนสูง คือร่างกายจะโตไม่เต็มศักยภาพ เช่น จากที่ควรสูงได้ถึง 160 ซม.จะเหลือ 155 ซม.เพราะกระดูกจะปิดเร็วขึ้น

“คนอ้วนหรือเด็กอ้วน มักมีของกินอยู่ในมือหรือใกล้ตัวเสมอ เมื่อทานมากต่อเนื่องกัน กระเพาะจะขยายตัวต่อเนื่อง หรือที่เรียกกว่ากระเพาะคราก บรรจุอาหารได้มากกว่าคนวัยเดียวกัน ร่างกายจะเสียสมดุลฮอร์โมนอินซูลินหลั่งทันทีที่ไม่ได้กิน ทำให้หิว ซึ่งความอ้วน คือ ปัญหาอันดับหนึ่ง ที่วัยรุ่นมาปรึกษาในคลินิควัยรุ่น ทั้งด้านโรคภัยและจิตใจ ด้านจิตใจจะรู้สึกไม่ดี ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง จึงควรหยุดวัฎจักร ดูทีวี เล่นเน็ต คร่ำเคร่งเรียนพิเศษ เข้าห้าง ของเด็กในช่วงปิดเทอม ข้อควรปฏิบัติคือ 3 ไม่ 3 ต้อง เพื่อความแข็งแรงของทั้งร่างกายและจิตใจ คือ 1.ไม่กินหวาน มัน เค็ม ต้องกินผัก ผลไม้ ทุกวัน 2.ไม่ดูทีวี เน็ต เพลิน ต้องออกกำลังกายวันละครึ่งชม. 3.ไม่คร่ำเคร่งกับการเรียน แต่ต้อง ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ในชุมชน”นพ.สุริยเดว กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น