xs
xsm
sm
md
lg

"จาตุรนต์" ชำแหละส่งท้าย คมช.- เย้ยบันได 4 ขั้นล้มเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เปิดแถลงข่าว หัวข้อ "แก้ปัญหาบ้านเมือง ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย" โดยระบุว่า ที่ผ่านมาวิจารณ์คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มาโดยตลอด และในโอกาสที่ คมช.ยุติบทบาท จึงขอส่งท้าย เพราะจากการยึดอำนาจมาจนถึงการเลือกตั้ง พบว่าผลการเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้เป็นไปตามที่ คมช.ต้องการ ทำให้บันได 4 ขั้นของ คมช. ล้มเหลว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พรรคต่อต้านเผด็จการใช้การเลือกตั้งต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตย จนเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม กรณีที่สื่อวิจารณ์รัฐบาล ถือว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่เร็วเกินไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเราผ่านช่วงการทำรัฐประหารถึงการเลือกตั้ง และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล แสดงให้เห็นแล้วว่าประชาชนต้องการอะไร
นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลและสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง มีภาระและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยประชาชนคาดหวังสูงว่า ต้องแก้ปมที่เผด็จการผูกไว้ เพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย จึงต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลาก่อน 3 เดือนที่จะครบวาระการทำหน้าที่ของรัฐบาลตามที่นายกรัฐมนตรีระบุไว้ เนื่องจากภาวะนี้การเมืองไม่แน่นอน จึงควรที่จะแก้และรวบรวมประเด็นแก้ไขได้แล้ว นอกจากนี้ ต้องสร้างระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นเผด็จการอาจกลับมาได้อีก
นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ฝ่ายใดที่เห็นว่ารัฐบาลไม่ดี ก็ควรใช้องค์กรตามรัฐธรรมนูญถอดถอน อภิปราย แต่ถ้าพยายามเต็มที่แล้วไม่ดี รัฐบาลอาจปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเวลาที่เหมาะสม แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วยังไม่พอใจอีก ก็สามารถเลือกตั้งใหม่ได้ ไม่ใช่ใช้วิธีส่งเสริมเสียงข้างน้อยให้ยึดอำนาจรัฐประหาร เหมือนเหตุการณ์ 19 กันยาน 2549 อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลเป็นที่คาดหวังของประชาชนแล้ว ต้องเร่งแก้ปัญหา ทุ่มเท จริงจัง และต้องฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศให้มากขึ้น
ส่วนกรณีที่มีการวิจารณ์ว่า การวางตัวคณะรัฐมนตรีบางคนไม่เหมาะกับงาน นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ค่อนข้างยาก เพราะเราได้ผ่านเหตุการณ์ต่อสู้มาอย่างเข้มข้น มีคนที่สู้ด้วยกันมาและช่วยเหลือด้วยกันมา ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับ เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทำให้คนนอกไม่กล้าเข้ามารับตำแหน่ง โดยเฉพาะกฎหมาย “7 ชั่วโคตร” ประกอบกับการวางยุทธศาสตร์ที่ไม่ชัดเจน และข้อจำกัดเรื่องจำนวนบุคลากร ทำให้ภาพคณะรัฐมนตรีที่ออกมาไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง คนที่น่าเห็นใจมากคือนายกรัฐมนตรี เพราะที่ผ่านมาได้พยายามที่จะปรับให้ดีขึ้นแล้ว ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับความจริงว่า สิ่งนี้เป็นผลพวงที่มาจากการแทรกแซงของ คมช.และรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากเห็นคือ เมื่อตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาแล้ว ขอให้พยายามทำงานอย่างเต็มความสามารถ และสิ่งที่อยากจะฝากคือ หากทำงานไประยะหนึ่งแล้วยังไม่สามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้ ก็ควรจะปรับการทำงาน โดยหลังจากนี้ไม่ควรที่จะมาคำนึงว่าใครเป็นตัวแทนใคร ใครเป็นคนฝากมา ถึงเวลาต้องปรับ ก็ต้องปรับ แต่ถ้าหากสอบผ่านก็ปล่อยให้ทำงานกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น