xs
xsm
sm
md
lg

“อ๋อย” โดดป้อง ครม.“หมัก” แนะเร่งทำงานลบคำสบประมาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“จาตุรนต์” อัด คมช.ไม่ยอมรับความจริง ปชช.เบื่อจนสะท้อนออกมาด้วยผลการเลือกตั้ง โดดป้อง ครม.“หมัก” ถูกตั้งวงวิจารณ์เร็วเกินไป แนะเร่งทำงานลบคำสบประมาท แถมไม่ต้องเร่งออก กม.นิรโทษกรรม 111 อดีต กก.บห.ทรท.เชื่อ “นายแม้ว” เลื่อนกลับไทยเร็วไม่น่าส่งผลกระทบบ้านเมือง

วันนี้ (10 ก.พ.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เปิดแถลงข่าวในหัวข้อ “แก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยวิถีทางประชาธิปไตย” ว่า การที่ คมช.ได้แถลงยุติบทบาทการทำหน้าที่ และระบุว่า ที่ผ่านมาไม่สามารถทำงานให้บรรลุภารกิจตามที่ตั้งไว้ คำพูดดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คมช.ไม่ยอมรับกระบวนการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังมีเสียงออกมาในทำนองการเลือกตั้งไม่สามารถที่จะแก้ไขให้ประเทศเข้าสู่วิถีประชาธิปไตยได้ มีการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่มีต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน เห็นว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่เร็วเกินไป เพราะต้องยอมรับว่าหลังจากผ่านช่วงการทำรัฐประหารถึงการเลือกตั้งไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล แสดงให้เห็นว่า ประชาชนต้องการอะไร คมช.จึงน่าจะยอมรับผลการเลือกตั้งและเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่มองว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาชนถูกซื้อได้ แต่เป็นเพราะ 1 ปีที่ผ่านมาประชาชนเรียนรู้ถึงภัยจากอำนาจเผด็จการ และสะท้อนออกมาด้วยผลของการเลือกตั้งทำให้มีรัฐบาลเสียงข้างมากได้

“ผมอยากให้มองว่าผลของการเลือกตั้งสะท้อนให้เห็นการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย ไม่ใช่เอาคำวิจารณ์ของกลุ่มบุคคลที่ไม่เห็นด้วยนำไปปูทางสู่การสร้างสถานการณ์ยึดอำนาจรัฐประหารอีกครั้งในอนาคต หลังจากนี้ ประชาชนจะต้องเรียนรู้และศึกษาเพื่อรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย และทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำความเข้าใจกับประชาชนและให้ประชาชนได้มีการติดตามและศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของพรรคการเมือง ว่ามีแนวทางในการบริหารและนโยบายทางด้านการเมือง เพื่อนำประเทศไปสู่ความก้าวหน้าอย่างไร”

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า หลังจากมีการตั้งรัฐบาล มีรัฐสภา ทุกฝ่ายก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะต้องร่วมกันบ้านเมือง ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและบ้านเมือง เพราะประชาชนคาดหวังกับรัฐบาลนี้สูงมาก ดังนั้น เพื่อให้ประเทศชาติก้าวต่อไป จะต้องช่วยกันแก้ปมที่เผด็จการผูกไว้ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายเผด็จการ ส่งเสริมระบบการเมืองที่แข็งแรง สร้างภาคประชาชนให้เข้มแข็ง ทั้งหมดนี้ต้องทำอย่างจริงจัง ควรนำบทเรียนที่ผ่านมามาสรุปเป็นบทเรียนของประเทศ หากไม่ทำอย่างจริงจังเผด็จการก็จะหวนกลับมาอีก

“ที่ผ่านมา มีการแทรกแซงทางการเมืองของ คมช.ทำให้เกิดข้อจำกัดในการตั้งรัฐบาล จนนำไปสู่การวิจารณ์การตั้งรัฐบาล ซึ่งถือว่าเร็วกว่าปกติ เพราะพึ่งผ่านมาเพียง 2 สัปดาห์ เป็นอันตรายทต่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะการวิจารณ์ว่าเสียงข้างมากไม่ดี ประเทศชาติจะอยู่ไม่ได้ และจะกลับไปสู่วิกฤต ทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถแก้ปัญหาประชาธิปไตยได้ รัฐธรรมนูญไม่สามารถเปลี่ยนเผด็จการเป็นประชาธิปไตยได้ ซึ่งดูเหมือนจะเห็นเจตนาที่ดี แต่หากติดตามถ้อยคำผู้ออกมาวิจารณ์จะเห็นว่าบุคคลเหล่านี้คือเบื้องหลังของผู้สนับสนุนการยึดอำนาจ และจะเห็นว่าคมช.ไม่ได้แสดงความเข้าใจถึงความล้มเหลวของการรัฐประหาร แต่กลับแสดงความเสียใจที่ทำรัฐประหารไม่ได้ถึง 100 %

ผมคิดว่าหากเขาทำได้บ้านเมืองจะเสียหายมากกว่านี้ และดูเหมือนพวกเขาเหล่านี้พร้อมที่จะส่งเสริมการยึดอำนาจ แสดงให้เห็นว่า คมช.ไม่ยอมรับประชาธิปไตยเสียงข้างมาก นั้นแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ยอมรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และรัฐบาลหลังรัฐประหารไม่ได้ดีในสายตาพวกเขา ทั้งที่จริงแล้วการที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ก็ควรที่จะเสนอทางออกที่ดี ซึ่งหากรัฐบาลไม่ดี ก็มีกระบวนการตรวจสอบทางประชาธิปไตย มีทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย มีการอภิปรายในสภา หรือสุดท้ายแล้ว ก็คือ การยุบสภาเพื่อใช้กลไกในการเลือกตั้ง เพื่อให้เสียงข้างน้อยได้มีโอกาสได้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้กับประเทศ เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับและเลือกเสียงข้างน้อยมาเป็นเสียงข้างมาก แต่ไม่ใช่การวิจารณ์เสียงข้างมาก เพื่อนำไปสู่การยึดอำนาจเพราะถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องมากที่สุด”

เมื่อถามว่า เหตุใดจึงมีความคิดว่าจะมีการก่อรัฐประหารเกิดขึ้นอีกมีอะไรเป็นตัวส่งสัญญาณ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ตนไม่ได้บอกว่าจะมีการรัฐประหาร แต่เห็นจากผลต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตไม่ว่าจะเป็นตัวรัฐธรรมนูญ การจัดตั้งรัฐมนตรีที่ไม่สามารถทำได้อย่างที่ควรจะเป็น ข้อจำกัดต่างๆ ก็ล้วนแล้วมาจากคมช.ทั้งสิ้น ถ้าหากนำเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้มาตั้งใจอ่านกันดีๆ จะทำให้เห็นว่ามันเหมือนกับการเกิดขึ้นของพันธมิตรของ คมช.ที่มีการพูดคล้ายๆ กันในลักษณะนี้ เช่น ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว เลือกตั้งก็นำเผด็จการมาได้ เสียงข้างมากไม่ดีก็จะนำประเทศชาติไม่รอดพ้นไปได้ การพูดอย่างนี้เป็นการปูทางไปสู่กระบวนการอย่างเก่า ใครจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน เขาก็จะรุกคืบหน้าไปสู่การรัฐประหารในอนาคต

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 1 ในกรรมการบริหารพรรค 111 คน เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรมให้กับอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ตนเคยยืนยันมาตลอด ตั้งแต่ถูกเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารทั้ง 111 คน ไม่เป็นประเด็นสำคัญที่จะเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรม เพราะเราเห็นควรให้บรรยากาศทางการเมืองเดินไปในทางที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาใหญ่ จึงบอกกับรัฐบาลไปว่าให้ทำสิ่งที่สำคัญก่อน

“เราไม่ต้องการที่จะให้มาเร่งรีบในเรื่องนี้ และเรายืนยันว่า ไม่ได้ทำความผิดอะไร แต่ถ้ามองย้อนหลังกลับไปมีขบวนการเผด็จการทำให้เกิดขึ้น โดยไม่สอดคล้องกับหลักยุติธรรม เรายืนยันว่า เราถูกเพิกถอนสิทธิจากกฎหมายเผด็จการ ดังนั้น หากจะนิรโทษกรรมให้ก็ต้องนิรโทษกรรม เนื่องจากเราไม่มีความผิด และเรื่องนี้ไม่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะจะทำให้บรรยากาศทางการเมืองไม่สดใส นอกจากนี้ หากจะมานิรโทษกรรมโดยอ้างว่าไม่มีบุคลากรนั้น พวกผมยิ่งไม่เห็นด้วย เพราะฟังแล้วมันแปลกๆ ผมไม่อยากจะให้ใช้เหตุผลอย่างนี้”

ต่อข้อถามว่า มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาสู้คดีในประเทศเร็วขึ้นก่อนกำหนด นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบกำหนดการที่ชัดเจนว่าจะเดินทางกลับมาเมื่อไหร่ ตอนนี้อาจจะอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะกลับมาในช่วงไหนดี เป็นประเมินสถานการณ์ให้เหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัย และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อบรรยากาศทางการเมือง แต่ส่วนตัวเห็นว่าช้าเร็วคงไม่ต่างกันมาก และเป็นเรื่องที่ดีที่อดีตนายกฯจะเดินทางมาสู้คดีในทางยุติธรรม ส่วนที่ ผบ.สส.และ รมว.ยุติธรรม ยังเห็นว่า ช่วงนี้ไม่เหมาะสนั้น ตนว่าถ้าเป็นการเดินทางมาเพื่อสู้คดีไม่น่าจะมีปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อบ้านเมือง

นายจาตุรนต์ ยังกล่าวถึงตัวคณะรัฐมนตรีที่ถูกวิจารณ์ว่า จัดคนไม่เหมาะสมกับงาน ว่า ต้องยอมรับว่า การจัดตั้ง ครม.ชุดนี้ตั้งยากมาก เพราะว่าเราได้ผ่านเหตุการณ์ต่อสู้มาอย่างเข้มข้น มีคนที่สู้ด้วยกันมาและช่วยเหลือด้วยกันมา ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับ เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทำให้คนนอกไม่กล้าเข้ามารับตำแหน่ง โดยเฉพาะกฎหมาย 7 ชั่วโคตร ประกอบกับการวางยุทธศาสตร์ที่ไม่ชัดเจน ว่า ควรจะตั้ง ครม.ให้ดีแค่ไหนอย่างไร ครม.ที่ออกมาจึงไม่ได้อย่างที่คาดหวัง คนที่น่าเห็นใจมาก คือ นายกรัฐมนตรีเอง เพราะที่ผ่านมาก็พยายามที่จะปรับให้ดีขึ้นแล้ว

ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องยอมรับความจริงว่านี่เป็นผลที่มาจากการแทรกแซง คมช.และรัฐธรรมนูญ รวมทั้งไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนจากบุคคลที่ตั้ง ครม.และการจำกัดของจำนวนบุคลากร สิ่งที่ตนอยากเห็นจากนี้ คือ เมื่อมีการตั้ง ครม.ขึ้นมาแล้วก็ขอให้พยายามทำงานเต็มความสามารถและสิ่งที่อยากจะฝากหากทำงานไประยะหนึ่งแล้ว ยังไม่สามารถทำงานบรรลุเป้าหมายได้ ก็ควรจะปรับการทำงานหลังจากนี้ ไม่ควรที่จะมาคำนึงว่าใครเป็นตัวแทนใคร ใครเป็นคนฝากมา ถึงเวลาเมื่อต้องมีการปรับถ้าจำเป็นจะต้องปรับมาก็ต้องปรับมาก แต่ถ้าหากสอบผ่านกันก็ปล่อยให้ทำงานกันต่อไป

“หากจำเป็นจะต้องมีการปรับมาก ก็จะต้องปรับและตนขอให้พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชาชน และสมาชิกพรรคช่วยกันสนับสนุนให้นายกฯ ในการที่จะเสริมสร้างผู้นำให้มีความเข้มแข็งกล้าที่นำนโยบายของพรรคและรัฐบาลให้เดินหน้าต่อไปได้” นายจาตุรนต์ กล่าว

เมื่อถามว่า ควรให้ระยะเวลารัฐบาลในการทำงานก่อนที่จะปรับ ครม.กี่เดือน นายจาตุรนต์ กล่าว ไม่ควรกำหนดเวลา แต่ควรปล่อยให้เป็นไปตามสถานการณ์ แต่หากเห็นว่าควรปรับก็ต้องปรับ



กำลังโหลดความคิดเห็น