“บึงสีไฟ” เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของเมืองชาละวัน ดังปรากฏในคำขวัญจังหวัดพิจิตร ว่า
“ถิ่นประสูติพระเจ้าเสือ แข่งเรือยาวประเพณี พระเครื่องดีหลวงพ่อเงิน เพลิดเพลินบึงสีไฟ ศูนย์รวมใจหลวงพ่อเพชร รสเด็ดส้มท่าข่อย ข้าวเจ้าอร่อยลือเลื่อง ตำนานเมืองชาละวัน”
ย้อนอดีตบึงสีไฟ
บึงสีไฟ เป็นบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่อยู่คู่กับจังหวัดพิจิตรมาช้านาน มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ทรงเห็นว่าพิจิตรเป็นพื้นที่ลุ่มเต็มไปด้วยห้วยหนองคลองบึง โดยเฉพาะบึงสีไฟที่มีน้ำขังตลอดทั้งปี จึงทรงเรียกเมืองพิจิตรว่า “โอฆะบุรี” ที่แปลว่าห้วงน้ำ
เดิมบึงสีไฟมีพื้นที่กว้างขวางถึงกว่า 12,000 ไร่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทำให้ปัจจุบันบึงสีไฟลดขนาดลงเหลือพื้นที่ราว 5,390 ไร่ ถือเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่อันดับ 3 ของเมืองไทย มีความลึกเฉลี่ยประมาณ 1.5–2 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบลใน อ.เมืองพิจิตร ได้แก่ ต.ในเมือง ต.ท่าหลวง ต.เมืองเก่า ต.โรงช้าง และ ต.คลองคะเชนทร์
บึงสีไฟนอกจากจะเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติคู่เมืองชาละวันแล้ว ยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจและแหล่งรายได้จากการทำประมง ทำสวนบัว การค้าขาย และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคู่เมืองพิจิตร
เมื่อเดือน มี.ค. 2544 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาที่จังหวัดพิจิตรพร้อมได้ทอดพระเนตรบึงสีไฟเป็นการส่วนพระองค์
จากนั้นในปี 2556 บึงสีไฟประสบภาวะภัยแล้งอย่างหนัก ฝนที่ทิ้งช่วงเป็นเวลานานทำให้น้ำในบึงแห้งขอด จนเกิดดินแตกระแหง และในปี 2560 เกิดไฟไหม้บริเวณเกาะกลางบึงสีไฟ เนื่องจากมีวัชพืชแห้งทับถมกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดไฟไหม้ได้ง่าย โดยเฉพาะในภัยแล้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระบรมราโชบายในการพัฒนาแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำในพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ
เดินหน้าพัฒนาบึงสีไฟ
ในปีพุทธศักราช 2560 หน่วยราชการในพระองค์ได้น้อมนำพระบรมราโชบายในการปรับปรุงพัฒนาบึงสีไฟและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้กลับมาสมบูรณ์งดงามดังเดิม ดังนี้
-ด้านการบริหารจัดการดิน กรมเจ้าท่าดำเนินการขุดลอกบึงสีไฟระหว่างปีงบประมาณ 2560 ถึงปีงบประมาณ 2563
-ด้านการบริหารจัดการน้ำ แต่เดิมบึงสีไฟรับน้ำจากน้ำฝนและการผันน้ำจากระบบชลประทาน เข้ามาเติมในช่วงหน้าแล้ง ในการพัฒนาพื้นที่บึงสีไฟ กรมชลประทานโดยโครงการชลประทานพิจิตร ได้ผันน้ำ ผ่านคลองชลประทานอาศัยน้ำจากทางเหนือที่ไหลมาจากเขื่อนนเรศวร
-ด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์ มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวน สมเด็จพระศรีนครินทร์พิจิตรและการปรับปรุงสภาพแวดล้อมโดยรอบบึงสีไฟ รวมทั้งมีการสร้างทางจากดินที่ขุดลอก มาทำเป็นทางจักรยาน ทางเดิน และลู่วิ่ง โดยสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ การพัฒนาอุทยานบัวบึงสีไฟโดยขยายพันธุ์บัวหลากหลายสายพันธุ์ จัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้และส่งเสริมการท่องเที่ยว ฯลฯ
โครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติฯ
ในปี 2566-2567 บึงสีไฟสามารถกักเก็บน้ำเต็มบึง 100% ในปริมาณ 12.64 ล้านลูกบาศก์เมตร (จากเดิมก่อนพัฒนาบึงเก็บน้ำได้ประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร)
วันนี้ “โครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติฯ” หลังการพัฒนาปรับปรุง ได้พลิกโฉมจากบึงที่เคยเสื่อมโทรม กลายเป็นบึงน้ำอันสวยงาม มีสวนสาธารณะให้คนในพิจิตรและคนต่างถิ่นมาพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเช็กอินสำคัญของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนพิจิตร รวมถึงเป็นสถานที่จัดงานสำคัญต่าง ๆ ของจังหวัดพิจิตร อย่างเช่น “เทศกาลสายลมแห่งความสุข KiteXballoon @บึงสีไฟ” ที่จัดขึ้นที่ริมบึงสีไฟเมื่อวันที่ 24 - 25 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมีคนมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก
สำหรับสิ่งน่าสนใจในบริเวณบึงสีไฟนั้น ได้แก่
-สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 80 พรรษา เมื่อ พ.ศ. 2527 มีเนื้อที่ 170 ไร่ เป็นสวนพักผ่อนริมบึงสีไฟ มีสะพานทอดลงน้ำสู่ศาลาใหญ่ที่จัดไว้เป็นที่พักผ่อน นักท่องเที่ยวนิยมมาให้อาหารปลาและชมพระอาทิตย์ตกในบึงน้ำที่นี่
-ประติมากรรมพญาชาละวัน ตามตำนานเรื่องไกรทอง ที่เล่าว่ามีจระเข้ใหญ่ชื่อพญาชาละวัน เคยอาละวาดกินผู้คน และในที่สุดถูกไกรทองปราบลง
ประติมากรรมดังกล่าวตั้งอยู่ที่ด้านหน้าของบึงสีไฟ จัดสร้างเป็นอาคารขนาดย่อม มีความยาวถึง 38 เมตร กว้าง 6 เมตร สูง 5 เมตร ภายในตัวจระเข้นี้ทำเป็นห้องประชุมขนาด 25-30 ที่นั่ง และยังเป็นรูปปั้นจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
รวมถึงมีรูปปั้นจระเข้หรือชาละวันตัวสีอมทองยื่นเด่นดูสง่า จนถูกคนเรียกขานว่าเป็น “จระเข้รูปหล่อ” เป็นอีกหนึ่งจุดถ่ายเช็กอินขวัญใจนักท่องเที่ยว
-สถานแสดงพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ศาลาเก้าเหลี่ยม เป็นอาคารรูปดาวเก้าแฉก ยื่นลงไปในบึงสีไฟ ภายในประกอบด้วยตู้แสดงพันธุ์ปลามากกว่า 20 ชนิด และมีการสับเปลี่ยนชนิดของปลาเป็นประจำ
-บ่อจระเข้ มีจระเข้ตัวเป็นให้ชมกันหลายตัว แต่มีกฎว่าห้ามให้อาหารจระเข้
-ภาพวาดพญาชาละวัน และภาพวาดน้ำตก เป็นงานศิลปะบนพื้นดิน เพื่อให้ถ่ายภาพให้เหมือนภาพสถานที่จริงแบบสามมิติ
-ศาลากลางน้ำ ตั้งอยู่ในบึงสีไฟ มีทั้งหมด 4 ศาลา นักท่องเที่ยวนิยมมาให้อาหารสัตว์น้ำบนศาลาแห่งนี้
นอกจากนี้บึงสีไฟยังมีไฮไลต์แห่งใหม่ใต้พระบารมี คือ เลนปั่นจักรยานรอบบึงระยะทาง 10.28 กิโลเมตร และสนามจักรยานประเภทต่าง ๆ คือ สนามจักรยาน BMX สนามขาไถ สนามปั๊มแทรค และสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ซึ่งทางจังหวัดพิจิตรเสนอให้บึงสีไฟเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยพระราชทานชื่อสนามจักรยานว่า “สนามจักรยานสราญจิตมงคลสุข” หมายความว่า สนามจักรยานเป็นสถานที่ทำให้ใจสำราญเป็นมงคลและสุขสบาย
ทั้งนี้ในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และทรงเปิดสนามจักรยาน “สราญจิตมงคลสุข” ที่บริเวณโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติฯ โดยชาวจังหวัดพิจิตรได้เฝ้าฯ รับเสด็จอย่างเรียบร้อยและสมพระเกียรติ ด้วยความภาคภูมิใจในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระบรมราโชบายในการปรับปรุงพัฒนาบึงสีไฟแห่งนี้
และนี่ก็คือบึงสีไฟโฉมใหม่ใต้พระบารมี ที่ได้รับการพัฒนาจากบึงน้ำที่เคยเสื่อมโทรมเปลี่ยนเป็นบึงอันสวยงาม จนกลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดพิจิตร ซึ่งชาวพิจิตร นักท่องเที่ยวต่างถิ่น และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันดูแลรักษาบึงสีไฟโฉมใหม่ให้ดี ๆ เพื่อคนรุ่นต่อ ๆ ไป
####################
หมายเหตุ : ข้อมูลส่วนหนึ่งอ้างอิงจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพิจิตร