ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของเมืองไทย ต่อการจากไปของ “พระพรหมวชิรคุณ” หรือ “หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล” ซึ่งท่านได้ละสังขารอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เวลา 17.24 น. สิริอายุ 89 ปี 59 พรรษา
หลวงปู่ไพบูลย์ มีนามเดิมว่า “ไพบูลย์ สิทธิ” เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2477 เป็นบุตรคนสุดท้องของคหบดีชาวอำเภอเกาะคา โยมบิดาคือ “นายกองแก้ว” โยมมารดา คือ “นางคำสิทธิ”
หลวงปู่ไพบูลย์ เป็นพระกัมมัฏฐานในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่เคร่งครัดต่อการฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐาน มีวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย มีคำสอนที่เน้นให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา โดยท่านเน้นเรื่องอริยสัจ 4 ที่ “สอนให้คนรู้จักปล่อยวาง อย่ากังวล ให้รับความจริงแห่งการรอคอยได้”
หลวงปู่ไพบูลย์เป็นพระกัมมัฏฐานที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ซึ่งนอกจากท่านจะเป็นเจ้าอาวาส “วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม” อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในช่วงก่อนละสังขารแล้ว หลวงปู่ไพบูลย์ยังเป็นผู้สร้าง “วัดอนาลโยทิพยาราม (ดอยบุษราคัม)“ หรือ ที่คนเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดอนาลโย” ซึ่งท่านได้พัฒนาป่าเขารกร้างบนยอดดอยให้กลายเป็นแดนธรรมมะอันเลื่องชื่อของจังหวัดพะเยา
วัดอนาลโยทิพยาราม ตั้งอยู่บนดอยบุษราคัมบ้านสันป่าบง ต.สันป่าม่วง จ.พะเยา ซึ่งจากข้อมูลประวัติวัดอนาลโยฯ โดยสังเขป ระบุว่า หลวงปู่ไพบูลย์ หรือที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง “พระปัญญาพิศาลเถร” ซึ่งจำวัดอยู่ที่วัดรัตนวนาราม อ.เมือง จ.พะเยา ท่านได้นิมิตเห็น ทรายทองไหลลงมาสู่วัดเป็นสาย รังสี แสงของทรายทองที่ไหลพรั่งพรูราวกับสายน้ำนั้นอาบวัดทั้งวัด จนแทบจะกลายเป็นวัดทองคำ
หลวงปู่ไพบูลย์ท่านมองตามลำแสงสีทองไปก็เห็นเขาที่อยู่อีกฟากหนึ่งของกว๊านพะเยา ซึ่งก็คือ “ดอยบุษราคัม” ที่มีเรื่องเล่าขานกันว่า ในอดีตชาวบ้านมักจะเห็นแสงสว่างเป็นดวงกลม ล่องลอยไปมาอยู่บนดอยแห่งนี้ แสงสว่างที่เห็นนั้นดูเรืองรอง บางทีก็สว่างจ้าเป็นสีเหลืองทองอาบทั้งดอย ดูราวกับดอยทองคำ โดยเหตุการณ์เหล่านี้มักจะปรากฏในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันพระ 8 หรือ 15 ค่ำ ซึ่งทำให้คนที่นี่เรียกขานดอยแห่งนี้ว่า “ดอยบุษราคัม”
หลังจากนิมิตเห็น ต่อมาได้มีโยมมาอาราธนาให้ไปดูสถานที่บนดอยบุษราคัม เพื่อสร้างวัดไว้เป็นศูนย์รวมใจและสถานปฏิบัติธรรมของทั้งพระสงฆ์ และชาวบ้านในพื้นที่ โดยเมื่อปี พ.ศ.2525 หลวงปู่ไพบูลย์ได้ตัดสินใจมาพำนักอยู่บนดอยแห่งนี้ พร้อมเริ่มลงมือก่อสร้างวัดขึ้น
หลวงปู่ไพบูลย์เล่าว่า ในช่วงเริ่มสร้างวัด ท่านได้ นิมิตเห็นคนรูปร่าง ดำ สูงใหญ่เดินทางมาหาบอกว่าหาก ท่านอาจารย์จะมาอยู่ที่นี่ ก็มาอยู่ได้ แต่ขอให้ตั้งชื่อวัด เป็นวัดหลวงปู่ขาว ซึ่งท่าน พระอาจารย์ก็ ไม่ขัดข้องประการใด
ดังนั้นหลวงปู่ไพบูลย์จึงตั้งชื่อวัดบนดอยบุษราคัมแห่งนี้ ตามนาม “หลวง ปู่ขาว อนาลโย” หนึ่งในเกจิชื่อดังของเมืองไทย ว่า “วัดอนาลโยทิพยาราม” โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แห่งวัดบวรนิเวศ เป็นองค์ประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2525 เวลา 12.45 น.
วัดอนาลโย มีเนื้อที่ประมาณ 2,800 ไร่ ผู้มาเยือนวัดอนาลโยในวันนี้ จะได้สัมผัสกับวัดบนดอยอันร่มรื่น สงบงาม ภายในวัดมีสิ่งน่าสนใจหลากหลายให้เที่ยวชมท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นของแมกไม้ ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรมที่ผสมผสานวัฒนธรรมล้านนา พม่า และไทใหญ่เข้าด้วยกัน พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่มีพุทธลักษณะงดงาม และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ อีกหลายองค์ เช่น พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางลีลา พระพุทธรูปปางนาคปรก
นอกจากนี้ยังมีองค์รัตนเจดีย์ที่สร้างตามศิลปะอินเดีย พุทธคยา (จำลอง) มีเก๋งจีนซึ่งประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิม หอพระแก้วมรกตจำลองทำด้วยทองคำ พระบุษราคัม พระเงิน พระทอง และพระนาค ขณะที่มุมหนึ่งของวัดจากยอดดอยสามารถชมทัศนียภาพของกว๊านพะเยาได้อย่างสวยงามชัดเจน
และนี่ก็คือวัดอนาลโยทิพยารามที่หลวงปู่ไพบูลย์พัฒนาพื้นที่สร้างขึ้นมาจนกลายเป็นหนึ่งในแดนธรรมะอันโดดเด่นของเมืองไทย ซึ่งเราขอน้อมถวายความอาลัย พระเดชพระคุณ พระพรหมวชิรคุณ (หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล) ต่อการ
ละสังขารของท่าน
น้อมส่งหลวงปู่สู่แดนนิพพาน