"ชลน่าน" แจง 50 เขต 50 รพ. ตั้งเป้าเป็น รพ.ชุมชน 120 เตียง อุดช่องโหว่ขาดแคลนระดับทุติยภูมิ มีทั้งสร้างใหม่และต่อเติม เผยนำร่องเขต "ดอนเมือง" ได้ที่ดินมาแล้ว เขตอื่นหากพร้อมจะพัฒนาด้วยทันที เตรียมดันเป็นองค์การมหาชนเหมือน "รพ.บ้านแพ้ว" เตรียมวางศิลาฤกษ์อาคารสำนักงานอธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก หลังยกสถานะมา 4 ปี ยังไม่มีพื้นที่ของตัวเอง
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการมอบนโยบายสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับนโยบาย รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล ว่า เหตุผลความจำเป็นที่ต้องออกนโยบายนี้ เนื่องจากเห็นวิกฤตในช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา คนที่อาศัยอยู่ใน กทม. ไม่ว่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ใน กทม.หรือไม่ หรือเป็นคนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานมีมากถึง 12 ล้านคน จากทะเบียนบ้านจริงๆ 5 ล้านคน ถือว่าเป็นฐานประชากรที่เยอะมาก เมื่อเกิดภาวะวิกฤตหรือเจ็บป่วย การเข้ารับการรักษาในระดับทุติยภูมิไม่มีสถานบริการรองรับ ทั้งที่ กทม. มี รพ.เยอะมาก มีเตียงเยอะ แต่การจัดระบบยังไม่สอดคล้องสอดรับ รวมถึง กทม.ส่วนใหญ่จะทำไพรมารีหรือปฐมภูมิ จึงมีความจำเป็นต้องอุดช่องว่างตรงนี้ เลยประกาศนโยบายนี้โดยสร้าง รพ.หรือพัฒนาอาคารสถานที่ที่มีความพร้อม ตั้งเป้าให้เกิดเป็น รพ.ชุมชนขนาด 120 เตียง อย่างที่จะนำร่องเขตดอนเมือง เราจะสร้างขึ้นใหม่ เนื่องจากเราได้ที่ดินมา ก็จะหางบประมาณและประกาศสร้างเป็น Quick Win ที่จะทำใน 100 วันแรก หากมีความพร้อมทุกด้านก็เริ่มสร้างได้เลย
ส่วนเขตอื่นถ้ามีความพร้อมเราก็จะพัฒนาด้วยเลย เพราะถ้าไปรอสร้างเสร็จแล้วทำ การบริการมารองรับจะช้าไป เขตอื่นก็สามารถดูศักยภาพอาคารสถานที่ที่มีอยู่ สามารถไปปรับปรุงพัฒนาให้มีความพร้อมเติมเต็มจำนวนเตียง เรื่องคนเข้าไปได้ ทั้งนี้ ที่ กทม.เราจะเป็นต้นแบบเสมือน รพ.บ้านแพ้วแห่งที่สอง ซึ่ง รพ.บ้านแพ้วเป็นองค์การมหาชนภายใต้กำกับของ สธ. มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ ก็จะเป็นแห่งที่สองถ้าเราทำได้ แม้จะอยู่ในสังกัด สธ. แต่ก็บริการดูแลคนใน กทม.ได้ ส่วนเรื่องความไม่คล่องตัว ความลักลั่นการจัดบริการ เราจะแก้ปัญหาด้วยคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ส่วนการถ่ายโอน รพ.สต.จะมีปัญหาการจัดบริการปฐมภูมิหรือไม่ เรื่องนี้เราเห็นภาพปัญหาการมีหลายหน่วยงานจัดบริการโดยเฉพาะภาวะวิกฤต เราเลยแก้โดยคณะกรรมการพัฒนระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายกฯ ประธาน และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมบูรณาการกัน แม้ รพ.สต.จะสังกัดท้องถิ่น แต่การจัดบริการเราไม่ได้แยกว่า คนในชุมชนจะเข้าท้องถิ่นหรือ สธ. เราไม่ได้เลือกอย่างนั้น เรามุ่งหวังว่าถ้าทำสำเร็จจะเกิดหนึ่งจังหวัดเสมือนมี 1 รพ. สามารถเชื่อมโยงได้หมด เพราะเราใช้ บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการดูแลทุกที่ได้ ก็จะแก้เชิงระบบ สำคัญคือการพัฒนาคนขึ้นมารองรับ โดยเรามีสถาบันพระบรมราชชนก พัฒนาแพทย์ พยาบาล บุคลากรที่จะมาเป็นทีมดูแลปฐมภูมิให้บรรลุตามเป้าหมาย และเรื่องเทคโนโลยี หากไม่มีหมอไปนั่งในชุมชน ก็จะมีเทเลเมดิซีนเข้าไป ความฝันคือมี รพ.เสมือนจริง (Virtual Hospital) ที่อยู่ในชุมชนได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพระบรมราชชนก ได้รับการยกสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของ สธ. หลังมีการออก พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. 2562 โดยมีการควบวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรจังหวัดปราจีนบุรี วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีทุกแห่ง วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม และวิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข กาญจนาภิเษก เข้ามาอยู่ในสถาบัน แบ่งส่วนงานออกเป็นสำนักงานอธิการบดี คณะ และสำนัก โดยมีการเปิดคณะพยาบาลศษสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และล่าสุดมีการเปิดคณะแพทยศาสตร์ แต่ที่ผ่านมาต้องใช้พื้นที่สำนักงานปลัด สธ. มาตั้งสำนักงานอธิการบดี
ทั้งนี้ วันที่ 24 ก.ย. เวลา 09.00 น. จะมีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสำนักงานอธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งจะสร้างขึ้นในพื้นที่ รพ.ศรีธัญญา ติดกับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี วิทยาเขตศรีธัญญา โดยมีสมเด็จพระพุทธพจนวชิรมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานผ่ายสงฆ์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ประธานฝ่ายฆราวาส รวมถึง นพ.ชลน่าน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. และนพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก เข้าร่วม