xs
xsm
sm
md
lg

จบด้วยดี ไม่ตัดต้นยางนารัง “นกแก้วโม่ง” แต่ทำเหล็กค้ำยัน พร้อมผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นกแก้วโม่งหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (แฟ้มภาพ ปี 64)
ดราม่า “นกแก้วโม่ง” จบลงด้วยดี หลังหลายฝ่ายประชุมหาทางออก สรุป ทางวัดไม่โค่นต้นยางนายืนต้นตาย แต่จะสร้างเหล็กค้ำยัน พร้อมผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ แห่ง จ.นนทบุรี

นกแก้วโม่ง สัตว์อนุรักษ์

“นกแก้วโม่ง” หรือ “นกแก้วโมง” ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า เป็นนกตระกูลนกแก้วขนาดเล็ก-กลาง แต่เป็นนกแก้วขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีความยาววัดจากหัวถึงปลายหางได้ราว 51-58 ซม. หัวและลำตัวมีสีเขียว จะงอยปากอวบอูมสีแดงสด บริเวณหัวไหล่จะมีแถบสีแดงแต้มอยู่ทั้งสองข้าง นกเพศผู้จะปรากฏมีแถบขนสีดำและสีชมพูรอบคอที่เรียกกันว่า “Ring Neck” ส่วนนกเพศเมียไม่มีแถบดังกล่าวและมีขนาดเล็กกว่า

นกแก้วโมงจะหากินอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ นอนบนต้นไม้เป็นกลุ่มใหญ่ ส่งเสียงร้องกันระงม ชอบเกาะตามยอดไม้และมักเลือกที่จะทำรังตามโพรงไม้ใหญ่ ๆ โดยใช้วิธีแทะหรือขุดโพรงไม้จำพวกไม้เนื้ออ่อน หรืออาจเลือกใช้โพรงไม้เก่าในที่ต่าง ๆ

นกแก้วโม่งหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (แฟ้มภาพ ปี 64)
สำหรับที่จังหวัดนนทบุรีเคยมีข่าวโด่งดังในช่วงปี 2564 เรื่อง “นกแก้วโม่งฝูงสุดท้าย” ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติบริเวณหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ซึ่งก็ทำให้คนรักนกและประชาชนทั่ว ๆ ไปได้รู้จักกับนกชนิดนี้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่รู้จักเพียงนกแก้วเลี้ยงในกรงเท่านั้น

ดราม่านกแก้วโม่ง

เรื่องราวของนกแก้วโม่งได้เกิดเป็นประเด็นดราม่าขึ้นบนโลกโซเชียลขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากกรณี ดร.ศรันย์ภัทร์ สุวรรณรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านและนักอนุรักษ์นกแก้วโม่ง ได้ออกมาโพสต์เป็นห่วงของชีวิต “นกแก้วโม่ง”กลุ่มหนึ่งที่ทำรังอยู่ในโพรงต้นยางนายืนต้นตายบริเวณวัดมะเดื่อ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี

โดย ดร.ศรันย์ภัทร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ขอให้มีการชะลอการตัดต้นยางนายืนตายต้นนี้ไปก่อน เป็นในช่วงราวเดือน มี.ค.-เม.ย. ปี 2567 เพื่อให้ลูกนกแก้วโม่งเกิดใหม่ที่อาศัยอยู่ในโพรงต้นยางนาต้นนี้แข็งแรงพอบินออกจากรังไปใช้ชีวิตของตัวเอง หลังทางวัดมะเดื่อและชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ มีแผนที่จะตัดต้นยางนาดังกล่าวทิ้งในช่วงหลังปีใหม่ ปี 2567 เนื่องจากเกรงว่ายางนายืนต้นตายต้นนี้ที่มีขนาดสูงใหญ่จะหักโค่นลงมาทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้คนที่สัญจรผ่านไป-มา หรือสร้างความเสียหายแก่ ทรัพย์สินของชาวชุมชนที่อยู่ในละแวกรัศมีของต้นยางนาต้นดังกล่าว...(อ่านรายละเอียด สะเทือนใจ! ชีวิตรันทด “นกแก้วโม่ง” เจ้าของพื้นที่ไม่รัก (จะ) ตัดต้นยางนาทิ้ง เสี่ยงทำลูกน้อยตายทั้งเป็น)

นกแก้วโม่งหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (แฟ้มภาพ ปี 64)
หลังเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้เกิดข้อถกเถียงบนโลกโซเชียล โดยชาวเน็ตส่วนใหญ่ต่างไม่เห็นด้วยกับการตัดยางนายืนต้นตายทิ้งในช่วงหลังปีใหม่ 2567 แต่สนับสนุนแนวคิดของ ดร.ศรันย์ภัทร์ ในการให้ชะลอการตัดต้นยางยาทิ้งไปก่อนเพื่อให้ลูกนกแก้วโม่งเกิดใหม่แข็งแรงจนสามารถบินออกจากรังได้ จึงค่อยตัดยางนาต้นนี้ทิ้ง

ทำไมต้องตัดยางนายืนต้นตาย


จากกรณีดราม่านกแก้วโมง ทำให้เกิดการประชุมปรึกษาหาทางออกของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมวัดมะเดื่อ ต.บางรักใหญ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี

โดย พระครูนนทปริยัติวิสุทธิ เจ้าอาวาสวัดมะเดื่อ กล่าวว่า หลังเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกไปบนโลกโซเชียล ทำให้คนที่ไม่เข้าใจเป็นจำนวนมากเข้ามาคอมเมนต์โจมตีวัดในทำนองว่า วัดเป็นเขตอภัยทานแล้วทำไมไม่ยอมให้นกอยู่อาศัย จะไปตัดต้นไม้ไล่นกพันธุ์หายากไปทำไม ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นแบบคนที่ไม่เข้าใจเรื่องราวเลย วัดไม่ได้ต้องการที่จะตัดต้นยางนาอายุเป็นร้อย ๆ ปีที่อยู่คู่กับวัดมาเพื่อไล่นก แต่เป็นเพราะต้นยางนาต้นนี้ได้ยืนต้นตายมานานกว่า 20 ปีแล้ว ลำต้นก็เริ่มผุพังลงรวมทั้งกิ่งก้านต่าง ๆ

นกแก้วโม่งหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (แฟ้มภาพ ปี 64)
พระครูนนทปริยัติวิสุทธิ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เหตุที่ต้องตัดยางนายืนต้นตายต้นนี้ เนื่องจากทางวัดเองเกรงว่าอาจจะเกิดอันตรายขึ้นกับผู้คนในชุมชน โรงเรียนชั้นประถม และพระเณรที่อาศัยอยู่ภายในวัด เพราะด้วยขนาดลำต้นที่มีความยาวสูงใหญ่ ถ้าต้นยางนาเจอแรงลมพายุฝนเข้า รัศมีที่ต้นยางนาจะล้มใส่มีทั้งโรงเรียน ถนนที่ผู้คนสัญจร รวมทั้งกุฎิพระและโบสถ์ใหม่ที่กำลังสร้าง ล้มใส่สิ่งปลูกสร้างมาก็พังเสียหาย ล้มใส่ผู้คนมาก็คงไม่เหลือ เพราะขนาดที่ผ่านมา แค่กิ่งจากต้นยางนาร่วงหล่นมาใส่รถของคนที่เดินทางมาทำบุญกับทางวัด ทางวัดยังต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะต้นยางต้นนี้อยู่ในพื้นที่วัดไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้ จึงอยากให้ทางนักอนุรักษ์เห็นใจทางวัดด้วยเช่นกัน แต่ถ้าหากมีวิธีการอื่นในการแก้ไขปัญหาให้ทางวัดไม่ต้องโค่นต้นยางนาออก เพื่อให้เป็นที่พักของนกแก้วโม่งสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เป็นอันตรายกับชุมชน ทางวัดยินดีที่จะให้ความร่วมมือเช่นกัน

ด้าน นายนิติ ธรรมจิตต์ นักวิชาการจากสมาคมรุกขกรรมไทย ซึ่งดูแลเกี่ยวกับต้นไม้ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจของทีมงานพบว่าต้นยางนาต้นนี้มีอายุมากกว่าร้อยปี และยืนต้นตายมาเป็นเวลานานแล้ว สภาพในโพรงของต้นยางนาเปื่อยยุ่ยเกือบจะทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะล้มลงมาได้ทุกเมื่อ เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่ามีรอยแตกในลักษณะขวางตามลำต้น ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายและมีความเสี่ยงสูงกับผู้คนในชุมชน รวมทั้งพระเณร และสิ่งปลูกสร้างที่อยู่รอบทิศของต้นยางนานี้ ซึ่งหากให้ตนพูดถึงความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการประเมินต้นไม้ต้นนี้ตามที่ตนได้ศึกษามา ไม่เกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษ์นก ตนเห็นว่าควรโค่นตัดทิ้งออกเพื่อความปลอดภัยของผู้คนและชุมชน

หาทางออกช่วยนกแก้วโม่ง


นกแก้วโม่งหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (แฟ้มภาพ ปี 64)
ดร.ศรันย์ภัทร์ สุวรรณรัตน์ ได้ให้ข้อมูลวงจรชีวิตนกแก้วโม่งเบื้องต้นว่า ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. นกแก้วโม่งจะเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ เจาะโพรงต้นไม้ เพื่อสร้างรังวางไข่ปีละครั้ง ครั้งละ 2-4 ฟอง ซึ่งจากการศึกษาในปีนี้ (2566) พบนกแก้วโม่งมีการจับคู่แล้ว 4 คู่ อาศัยอยู่ในโพรงไม้ จึงอยากให้กรรมการวัดมะเดื่อ ชะลอการตัดต้นไม้ยืนต้นตายนี้ออกไปก่อนจนกว่าจะถึง เม.ย.2567 เพื่อให้ลูกนกฟักไข่และแม่ทิ้งรัง (ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น)

นอกจากนี้ ดร.ศรินทร์ภัทร์ ยังกล่าวว่า จากการที่ตนเองและทีมงานติดตามจำนวนประชากรของนกแก้วโม่งในจังหวัดนนทบุรี พบว่าปัจจุบันมีฝูงนกแก้วโม่งมารวมฝูงกันพักอาศัยอยู่ที่เฉพาะต้นยางนาใน 4 จุดด้วยกันคือ ฝูงที่วัดสวนใหญ่ในอำเภอบางกรวย ฝูงที่วัดสะพานสูงในอำเภอปากเกร็ด ฝูงที่วัดไผ่เหลืองกับฝูงที่วัดมะเดื่อ ในอำเภอบางบัวทอง ซึ่งธรรมชาติของนกแก้วโม่งจะอาศัยขุดโพรงทำรังอยู่บนต้นยางนาที่สูงเท่านั้น ไม่พบว่ามีการไปสร้างรัง หรือขุดโพรงที่ต้นไม้ชนิดอื่น ซึ่งหลังนกแก้วโม่งเริ่มจับคู่ขุดโพรงทำรังแล้วก็จะเริ่มผสมพันธุ์และวางไข่

จากนั้นก็จะใช้เวลาในการฟักไข่เลี้ยงดูลูกนกอยู่ในโพรงไปจนกว่าลูกนกจะเริ่มออกบินหาอาหารได้ด้วยตัวเอง การตัดโค่นต้นยางนาทิ้งเพราะเหมือนกับการขับไล่ให้นกแก้วโม่งเหล่านี้ไม่มีที่อยู่อาศัย รวมทั้งอาจทำให้เกิดอันตรายกับลูกนกที่ยังไม่สามารถบินได้ ซึ่งนกแก้วโม่งเป็นนกที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ เพราะในธรรมชาติปัจจุบันเหลือจำนวนน้อย ตนอยากเสนอให้ทางวัดซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่มีต้นยางนาต้นนี้ตั้งอยู่หาแนวทางในการอนุรักษ์นกร่วมกันโดยไม่ต้องโค่นต้นยางนาออก

สร้างเหล็กค้ำยันต้นยางนา


นกแก้วโม่งหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (แฟ้มภาพ ปี 64)
นายวัฒนา ศักดิ์ชูวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า เนื่องจากนกแก้วโม่งถือเป็นสัตว์ที่ได้รับการอนุรักษ์และคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งในจังหวัดนนทบุรีพบว่ามีอยู่ประมาณ 4 ฝูง ตามแนวคลองอ้อม โดยจังหวัดนนทบุรีเตรียมผลักดันให้นกแก้วโม่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่อไปในอนาคตคู่กับสวนทุเรียนนนท์ ก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดต่อไปได้

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาในเบื้องต้นทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรีได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนรายหนึ่งที่จะเข้ามาสนับสนุนโครงสร้างเหล็กค้ำยันพื้นกับต้นยางนาเอาไว้ โดยจะตัดกิ่งก้านของต้นยางนาที่ผุพังออก พร้อมกับติดตั้งรังเทียมไปยังต้นยางนาต้นอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ เพื่อในนกแก้วโม่งหาที่ทำรังแห่งใหม่ ซึ่งก็จะเป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย

ด้าน นายกิติภูมิ แสงเดือน นานก อบต.บางรักใหญ่ กล่าวว่า หากมีนำอุปกรณ์มาล้อมยันต้นยางนาเอาไว้แล้วเพื่อให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงให้เป็นที่อยู่อาศัยของนกแก้วโม่งซึ่งเป็นสัตว์อนุรักษ์ รวมทั้งในอนาคตต่อไปทางจังหวัดจะสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นแหล่งดูนกในพื้นที่ ซึ่งก็จะเป็นผลดีกับชุมชนต่อไป เพราะทำให้ทั้งทางวัดและพื้นที่มีจุดขายที่ผู้คนจะเดินทางมาเที่ยวดูนกโดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไร นอกจากการอนุรักษ์นกหายากเอาไว้ให้อยู่ในพื้นที่ ถือเป็นเรื่องดีที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนไปในตัว

จบด้วยดี


นกแก้วโม่งหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (แฟ้มภาพ ปี 64)
นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สส.นนทบุรี กล่าวว่า หลังทุกฝ่ายได้พูดคุยปรับความเข้าใจกันและหาทางออกร่วมกันได้ ก็เรื่องน่ายินดี ตนในฐานะ สส.ในพื้นที่พร้อมที่จะสนับสนุนช่วยเหลือผลักดันให้พื้นที่ขิงวัดมะเดื่อแห่งนี้เป็นแลนด์มาร์กสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เป็นแหล่งดูนกหายากต่อไปในอนาคตของจังหวัดนนทบุรี ทั้งคนทั้งนกได้รับประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ด้าน ดร.ศรันย์ภัทร์ สุวรรณรัตน์ ก็ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กในบัญชีรายชื่อ Saranphat Suwanrat ถึงเรื่องดังกล่าวที่จบลงด้วยดี ว่า

กราบขอบพระคุณ ท่านพระครูนนทปริยัติวิสุทธิ (หลวงพ่อเจ้าอาวาส) วัดมะเดื่อ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และขอบพระคุณทุกหน่วยงาน ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมหารือให้ข้อคิดเห็นในวันนี้ เราจบลงด้วยความเข้าใจกันทุกฝ่าย เราได้ข้อสรุปและแนวทางปฏิบัติร่วมกัน และหลังจากนี้ คือ การร่วมลงมือทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมค่ะ ยังงัยฝากติดตามเรื่องราวนกแก้วโม่งวัดมะเดื่อต่อไปด้วยนะคะ

นกแก้วโม่งหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (แฟ้มภาพ ปี 64)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สะเทือนใจ! ชีวิตรันทด “นกแก้วโม่ง” เจ้าของพื้นที่ไม่รัก (จะ) ตัดต้นยางนาทิ้ง เสี่ยงทำลูกน้อยตายทั้งเป็น





กำลังโหลดความคิดเห็น