xs
xsm
sm
md
lg

สะเทือนใจ! ชีวิตรันทด “นกแก้วโม่ง” เจ้าของพื้นที่ไม่รัก (จะ) ตัดต้นยางนาทิ้ง เสี่ยงทำลูกน้อยตายทั้งเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นกแก้วโม่งหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (แฟ้มภาพ ปี 64)
กูรูนกเผยชีวิตรันทดของ “นกแก้วโม่ง” แห่งหนึ่งในเมืองนนท์ เจ้าของพื้นที่จะตัด (รัง) ต้นยางนายักษ์ยืนต้นตาย ไม่สนคำทัดทาน หวั่นกระทบชีวิตลูกนกเพิ่งเกิด สุ่มเสี่ยงทำตายทั้งเป็น

อาจารย์ ดร.ศรันย์ภัทร์ สุวรรณรัตน์ (ดร.ปิ๊ก) ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนกของเมืองไทย เผยสถานะภาพน่าเป็นห่วงของชีวิต “นกแก้วโม่ง” ในพื้นที่แห่งหนึ่งของ จ.นนทบุรี ระบุ เจ้าของพื้นที่จะตัดต้นยางนายักษ์ยืนต้นตายหลังปีใหม่ ไม่สนคำทัดทานที่ให้ชะลอไปก่อน เพื่อให้ลูกนกเกิดใหม่แข็งแรงพอบินออกจากโพรง แต่ไม่เป็นผล จึงได้แต่ทำใจ

นกแก้วโม่งหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (แฟ้มภาพ ปี 64)
โดย ดร.ปิ๊ก ได้โพสต์ถึงเรื่องราวน่ารันทดของชีวิตนกแก้วโม่งดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ Saranphat Suwanrat ดังนี้

เขาบอก...ให้พี่ทำใจ

ต้นยางนายักษ์ อายุหลายร้อยปี ที่ยืนต้นตายในพื้นที่หนึ่งของจ.นนทบุรี เป็นที่อยู่อาศัยและทำรังวางไข่ของ “นกแก้วโม่ง” สัตว์ป่าที่ (หลงเหลือ) อยู่ในเมือง และเป็นนกชนิดพันธุ์หายากใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งในช่วงฤดูผสมพันธุ์ปีที่ผ่านมามีนกแก้วโม่งมาทำรังวางไข่อยู่ในโพรงของต้นไม้นี้ทั้งหมด 6 คู่ 6 โพรง ได้ลูกนกออกจากโพรงรวมกัน 5 ตัว

ช่วงนี้เริ่มเข้าฤดูผสมพันธุ์ใหม่แล้ว เมื่อวานลองขับรถแวะเข้าไปดู พบว่ามีนกเริ่มจับจองและอยู่ประจำโพรงแล้ว 4-5 โพรง แต่พี่ยืนอมยิ้มได้อยู่ไม่นาน เจ้าของพื้นที่ก็เดินมาบอกว่า จะตัดต้นยางนานี้แน่นอนหลังปีใหม่

ซึ่งที่ผ่านมาพี่ก็พยายามบอกตัวเองเสมอว่า ไม่ช้าก็เร็ว ต้นยางนาต้นนี้จะต้องถูกตัดถูกถอนทิ้งแน่นอน แต่ก็ภาวนาขออย่าให้เป็นช่วงที่มีลูกนกในโพรงเลย แต่ไม่เป็นผล และถึงแม้จะพยายามต่อรอง ให้ข้อมูล และขอเลื่อนเวลาในการรื้อถอนออกไปเป็นเดือนมี.ค.-เม.ย. ปีหน้า เพื่อให้โอกาสลูกนกของฤดูกาลนี้ได้ออกจากโพรงไปเสียก่อน แต่พี่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจใครได้

ก็ทำยังงัยได้ คนไม่รักษ์ ทำยังงัยก็ไม่รักษ์ คนไม่เห็นค่า ทำยังงัยก็ไม่มีค่า พี่ก็เลยเลิกอ้อนวอนเจ้าของพื้นที่ เปลี่ยนมาอ้อนวอนเทวดาฟ้าดิน บอกรุกขเทวดาประจำต้นยางนาว่า ขออย่าให้มีฤกษ์ในการถอดถอนต้นยางนา จนกว่าลูกนกฤดูกาลนี้จะออกจากโพรง ขออย่าให้มีลมแรงมาทำให้กิ่งล่วงหล่นจนสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือชีวิต เพื่อให้นกแก้วโม่งทิ้งทวนทำรังบนต้นยางนานี้เป็นปีสุดท้ายเถอะ เพราะถ้าพี่พูดภาษานกได้ พี่คงบอกให้พวกมันย้ายไปหาที่ทำรังใหม่แล้ว และที่สำคัญพี่ไม่ได้อยากจะศึกษาวิจัย เพื่อรอวันให้นกสูญพันธุ์ไป แล้วถึงจะทำให้คนส่วนใหญ่เห็นคุณค่าของการมีอยู่ของนกแก้วโม่ง


นกแก้วโม่งหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (แฟ้มภาพ ปี 64)
“นกแก้วโม่ง” หรือ “นกแก้วโมง” ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า เป็นนกตระกูลนกแก้วขนาดเล็ก-กลาง แต่เป็นนกแก้วขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีความยาววัดจากหัวถึงปลายหางได้ราว 51-58 ซม. หัวและลำตัวมีสีเขียว จะงอยปากอวบอูมสีแดงสด บริเวณหัวไหล่จะมีแถบสีแดงแต้มอยู่ทั้งสองข้าง นกเพศผู้จะปรากฏมีแถบขนสีดำและสีชมพูรอบคอที่เรียกกันว่า “Ring Neck” ส่วนนกเพศเมียไม่มีแถบดังกล่าวและมีขนาดเล็กกว่า

นกแก้วโมงจะหากินอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ นอนบนต้นไม้เป็นกลุ่มใหญ่ ส่งเสียงร้องกันระงม ชอบเกาะตามยอดไม้และมักเลือกที่จะทำรังตามโพรงไม้ใหญ่ ๆ โดยใช้วิธีแทะหรือขุดโพรงไม้จำพวกไม้เนื้ออ่อน หรืออาจเลือกใช้โพรงไม้เก่าในที่ต่าง ๆ

นกแก้วโม่งหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (แฟ้มภาพ ปี 64)
สำหรับที่จังหวัดนนทบุรีเคยมีข่าวโด่งดังในช่วงปี 2564 เรื่อง “นกแก้วโม่งฝูงสุดท้าย” ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติบริเวณหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ซึ่งก็ทำให้คนรักนกและประชาชนทั่ว ๆ ไปได้รู้จักกับนกชนิดนี้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่รู้จักเพียงนกแก้วเลี้ยงในกรงเท่านั้น

นกแก้วโม่งหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (แฟ้มภาพ ปี 64)

นกแก้วโม่งหลังวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (แฟ้มภาพ ปี 64)




กำลังโหลดความคิดเห็น