xs
xsm
sm
md
lg

“ชะลอม” เบื้องหลังโลโก้เอเปค ฝีมือการออกแบบของเยาวชนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เครดิตภาพ: สำนักข่าวซินหัว
รู้หรือไม่ว่า สัญลักษณ์ที่เป็นโลโก้สามสีของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting) ปี 2022 ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร เกิดจากฝีมือการออกแบบของเด็กไทย วัย 21 ปี


เครดิตภาพ: สำนักข่าวซินหัว
สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการของประเทศจีน รายงานว่า บุคคลที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบสัญลักษณ์การประชุมเอเปค 2022 คือ “ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง” นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้บอกเล่ากระบวนการออกแบบโลโก้สำหรับการประชุมทางเศรษฐกิจระดับโลกว่า ความท้าทายอยู่ที่จะผสมผสานอัตลักษณ์ของเอเปคเข้ากับสัญลักษณ์ของไทยได้อย่างไร

ชวนนท์เผยว่า ช้าง วัด หรือยักษ์ มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของไทย แต่เขามองว่าธรรมดาเกินไป จึงอยากคิดนอกกรอบ และไม่อยากใช้สัญลักษณ์ที่ใช้กันบ่อยๆ จึงนึกถึง “ชะลอม” ขึ้นมา

“เรานึกถึงต้มยำกุ้งเมื่อพูดถึงอาหารไทย หรือรถตุ๊กตุ๊กเมื่อพูดถึงการขนส่ง แล้วสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจในไทยที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน คือ อะไร ชะลอมเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้งานกันมาแต่โบราณ มันจักสานขึ้นจากไม้ไผ่และเป็นงานฝีมือที่ยั่งยืน ซึ่งสะท้อนความสมดุลของวิสัยทัศน์การประชุมฯ ในปีนี้” ชวนนท์กล่าว

เครดิตภาพ: สำนักข่าวซินหัว
ชวนนท์ ใช้เวลาราว 3 เดือน ปรับแต่งลักษณะของชะลอมจนกลายเป็นโลโก้รูปแบบสุดท้าย โดยไผ่ที่จักสานเข้าด้วยกันก่อตัวเป็นช่องว่าง 21 ช่อง สื่อถึงสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจของเอเปค ส่วนปลายชะลอมที่ชี้ขึ้นฟ้าสื่อถึงการเติบโตของเอเปค ส่วนสีต่างๆ อาทิ สีน้ำเงินอันเป็นสัญลักษณ์การอำนวยความสะดวก สีชมพูแห่งการเชื่อมโยง และสีเขียวที่ยั่งยืน ยังสะท้อนหัวข้อการประชุมฯ ปีนี้ ได้แก่ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open. Connect. Balance.)

แนวคิดหลากหลายและการออกแบบอันประณีตงดงามดังกล่าว ทำให้ชวนนท์ ซึ่งคลุกคลีกับการวาดภาพมาตั้งแต่ชั้นประถม เอาชนะผู้ร่วมประกวดเกือบ 600 รายได้ในที่สุด

เครดิตภาพ: สำนักข่าวซินหัว
ด้าน “อุไร เสงี่ยมศรี” ช่างจักสาน วัย 65 ปี จากชุมชนพนัสนิคม แหล่งอนุรักษ์เทคนิคจักสานไม้ไผ่แบบโบราณ กล่าวว่า ตั้งแต่โลโก้เอเปคเปิดตัว คนหนุ่มสาวก็หันมาสนใจชะลอมมากขึ้น บางคนได้มาเรียนรู้วิธีทำชะลอมด้วย
หลังจากหายไปจากชีวิตประจำวันคนไทยนานหลายสิบปี ปัจจุบันดูเหมือนชะลอมและงานจักสานไม้ไผ่อื่นๆ กำลังได้รับความนิยม และอาจมีโอกาสกลับมาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตผู้คนอีกครั้ง

เครดิตภาพ: สำนักข่าวซินหัว
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น