xs
xsm
sm
md
lg

(ชมภาพ/คลิป) นักศึกษาไทยชุบชีวิต ‘ชะลอม’ ผ่านผลงานโลโก้ APEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ออกแบบโลโก้สามสีของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ปี 2022 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากชะลอม
สำนักข่าวซินหัวรายงาน, 16 พ.ย. - โลโก้สามสีของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC Economic Leaders’ Meeting) ปี 2022 ปรากฏอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองเจ้าภาพจัดการประชุมในสัปดาห์นี้ โดยโลโก้ดังกล่าวเกิดจากฝีมือการออกแบบของนักศึกษาไทย วัย 21 ปี

ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่ากระบวนการออกแบบโลโก้สำหรับการประชุมทางเศรษฐกิจระดับโลกกับสำนักข่าวซินหัวว่า ความท้าทายอยู่ที่จะผสมผสานอัตลักษณ์ของเอเปกเข้ากับสัญลักษณ์ของไทยได้อย่างไร


ชวนนท์ เผยว่า ช้าง วัด หรือยักษ์มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของไทย แต่เขามองว่ามันธรรมดาเกินไป และอยากคิดนอกกรอบ และไม่อยากใช้สัญลักษณ์ที่ใช้กันบ่อยๆ จึงนึกถึง “ชะลอม” ขึ้นมา

“เรานึกถึงต้มยำกุ้งเมื่อพูดถึงอาหารไทย หรือรถตุ๊กตุ๊กเมื่อพูดถึงการขนส่ง แล้วสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจในไทยที่อยู่คู่กับคนไทยมานานคืออะไร ชะลอมเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้งานกันมาแต่โบราณ มันจักสานขึ้นจากไม้ไผ่ และเป็นงานฝีมือที่ยั่งยืน ซึ่งสะท้อนความสมดุลของวิสัยทัศน์การประชุมในปีนี้” ชวนนท์ กล่าว



ชวนนท์ใช้เวลาราว 3 เดือน ปรับแต่งลักษณะของชะลอมจนกลายเป็นโลโก้รูปแบบสุดท้าย โดยไผ่ที่จักสานเข้าด้วยกันก่อตัวเป็นช่องว่าง 21 ช่อง สื่อถึงสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจของเอเปก ส่วนปลายชะลอมที่ชี้ขึ้นฟ้าสื่อถึงการเติบโตของเอเปก ส่วนสีต่างๆ เช่น สีน้ำเงินอันเป็นสัญลักษณ์การอำนวยความสะดวก สีชมพูแห่งการเชื่อมโยง และสีเขียวที่ยั่งยืน ยังสะท้อนหัวข้อการประชุมปีนี้ ได้แก่ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open. Connect. Balance.)

แนวคิดหลากหลายและการออกแบบอันประณีตงดงามดังกล่าว ทำให้ชวนนท์ ซึ่งคลุกคลีกับการวาดภาพมาตั้งแต่ชั้นประถม เอาชนะผู้ร่วมประกวดเกือบ 600 รายได้ในที่สุด



อุไร เสงี่ยมศรี ช่างจักสาน วัย 65 ปี จากชุมชนพนัสนิคม แหล่งอนุรักษ์เทคนิคจักสานไม้ไผ่แบบโบราณ กล่าวว่า ตั้งแต่โลโก้เอเปกเปิดตัว คนหนุ่มสาวก็หันมาสนใจชะลอมมากขึ้น บางคนได้มาเรียนรู้วิธีทำชะลอมด้วย

หลังจากหายไปจากชีวิตประจำวันคนไทยนานหลายสิบปี ปัจจุบันดูเหมือนชะลอมและงานจักสานไม้ไผ่อื่นๆ กำลังได้รับความนิยม และอาจมีโอกาสกลับมาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตผู้คนอีกครั้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น