“ปลัด อว.” จับมือสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ดันนักศึกษาไทยโคเซ็นฝึกงานในบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเพื่อนำประสบการณ์มาใช้ในอุตสาหกรรมไทย พร้อมร่วมผลิตวิศวกรนักปฏิบัติ นักอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ นักอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ชี้ไทยมีความเข้มแข็ง
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ได้เข้าหารือกับหน่วยงานชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นเพื่อขับเคลื่อนโครงการผลิตวิศวกรนักปฏิบัติของสถาบันไทยโคเซ็น ที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการผลิตวิศวกรแนวใหม่ที่เน้นทั้งทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติตามแนวทางที่ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จและสามารถสร้างวิศวกรนักปฏิบัติซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายฟูมิโอะ คิชะดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้สนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ตนได้ประชุมหารือกับนายฮาเซกาว่า เคอิจิ กรรมการบริหารและประธานคณะกรรมการด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซากา หรือ OCCI และคณะ ซึ่งเป็นองค์กรหลักของภาคเอกชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของนครโอซากาและเขตคันไซซึ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงของญี่ปุ่นรวมทั้งมีบริษัทที่ลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ปลัด อว. กล่าวต่อว่า ในการหารือสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซากาแจ้งว่าทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะวิศวกรนักปฏิบัติที่มีความชำนาญเป็นสิ่งจำเป็นในการกระตุ้นและรักษาฐานการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตได้ จึงมีนโยบายสนับสนุนให้บุคลากรที่มีความสามารถจากทั่วโลกเข้ามาศึกษาต่อหรือทำงานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น พร้อมกับสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยร่วมกับนานาชาติ นอกจากนี้ OCCI ยังต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์และงานวิจัยทางการแพทย์ เนื่องจากเขตคันไซมีความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งต้องการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการโดยเฉพาะต้องการพัฒนาบุคลากรด้านดังกล่าว จึงมีสนใจที่จะร่วมมือกับประเทศไทยซึ่งมีความเข้มแข็งมากในด้านนี้ การหารือกันของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นการสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นและประเทศไทยภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19
“ประเทศไทยให้ความสำคัญโครงการสถาบันไทยโคเซ็น ซึ่งได้จัดการเรียนการสอนโดยใช้ในระบบของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมอันเป็นหัวใจสำคัญของโคเซ็น เป็นวิศวกรนักปฏิบัติที่รู้ทั้งทางทฤษฎีและสามารถทำงานในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงได้ โดยนักศึกษารุ่นแรกจะสำเร็จการศึกษาใน 1.5 ปีข้างหน้า ผลการติดตามการเรียนการสอนพบว่ามีคุณภาพดีมาก ซึ่งการฝึกงานและการทำงานร่วมกับภาคเอกชนตั้งแต่ที่กำลังศึกษาอยู่นั้นจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาทักษะและความพร้อมของผู้สำเร็จการศึกษา กระทรวง อว.จะร่วมกับ OCCI สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา และหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ประชาสัมพันธ์สถาบันไทยโคเซ็นให้เป็นที่รู้จักแก่ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้แก่นักศึกษาสถาบันไทยโคเซ็นได้เข้าฝึกงานกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ของนักศึกษาผ่านทางการปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้สามารถประยุกต์องค์ความรู้ที่ได้รับให้เข้ากับบริบทของภาคอุตสาหกรรมไทย อันจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ในส่วนประเด็นเรื่องการร่วมพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขกับ OCCI ตนได้มอบให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (TCELS) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กระทรวง อว. เชื่อมโยงร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นต่อไป