xs
xsm
sm
md
lg

“วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม” ด้วยศรัทธา วิถีชาวพุทธปกาเกอะญอแห่ง “บ้านห้วยต้ม” ลำพูน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชุมชนชาวปกาเกอะญอขนาดใหญ่ ที่อาศัยอยู่ ณ “บ้านห้วยต้ม” อ.ลี้ จ.ลำพูน นับว่าเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์อย่างมาก ที่เห็นอย่างเด่นชัดมากๆ ก็คือความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่ยังคงสืบทอดความเชื่อและการปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้

อีกอย่างคือการเป็นชุมชนมังสวิรัติ ที่แม้วันนี้ชาวบ้านจะเป็นมังสวิรัติลดลงเหลือราวๆ ร้อยละ 80 แต่ก็ยังถือว่ามีจำนวนมาก และเป็นการสืบสานคำสอนของ “หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา” พระเกจิที่เป็นดังศูนย์รวมจิตใจของชาวปกาเกอะญอที่บ้านห้วยต้ม

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เป็นชาวอำเภอลี้ จังหวัดลำพูนโดยกำเนิด เมื่อท่านบวชเป็นพระได้ธุดงค์ไปตามป่าเขา พบกับชาวเขาที่แต่ก่อนยังนับถือผี ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ท่านจึงได้ถือปฏิบัติกรรมฐานในสถานที่แห่งนั้นเพื่อหาโอกาสสอนพุทธธรรมให้กับพวกชาวเขา สอนอย่างมีเมตตาและค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะเรื่องของศีล 5 และการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ชาวเขาจึงเคารพนับถือและเชื่อฟังในคำสั่งสอนของครูบาวงศ์เป็นอย่างยิ่ง และเมื่อท่านมาพัฒนาวัดพระบาทห้วยต้ม ชาวปกาเกอะญอก็ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยเป็นชุมชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นชุมชนใหญ่

สิ่งหนึ่งที่หลวงปู่ครูบาวงศ์ได้สั่งสอนและชาวบ้านยังคงยึดถือปฏิบัติตามกันสืบมาก็คือการสอนให้ชาวบ้านกินมังสวิรัต โดยหลวงปู่เคยสอนไว้ว่าถ้าเราเบียดเบียนสัตว์ สัตว์ก็จะมาเบียดเบียนเรา โรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมาอีก ถ้ากินมังสวิรัติเราก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร ชาวบ้านห้วยต้มจึงกินมังสวิรัติกันทั้งหมู่บ้านและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

วิหารหลวง

รอยพระพุทธบาท
สำหรับชื่อ “บ้านห้วยต้ม” มีความเป็นมา กล่าวคือ เมื่อครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาโปรดสัตว์ในสถานที่ต่างๆ เมื่อเสด็จมาถึงบริเวณที่เรียกว่าดอยนางนอนจอมแจ้ง มีพญาเมืองเถิน พ่อฤาษีและหมอพรานอีก 8 คนหาบเนื้อสดเดินมาพบเข้า ขณะที่ไม่มีอะไรมาถวาย พระพุทธองค์ก็ยังไม่ได้ฉัน พวกพรานจึงเอาเนื้อไปกองรวมกันไว้ พวกละว้าที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงไปต้มข้าวมาถวาย สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงรับมาฉัน ให้ศีลให้พร และประทับรอยพระบาทไว้ จากนั้นจึงเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า “ห้วยต้มข้าว” และต่อมาเรียกเพี้ยนมาเป็น “ห้วยต้ม”

ตามความเชื่อที่ว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาที่นี่และประทับรอยพระบาทไว้ ภายในวัดพระพุทธบาทห้วยต้มจึงมี “รอยพระพุทธบาท” ประดิษฐานอยู่ด้านใน “วิหารหลวง” ซึ่งถูกออกแบบแปลนการก่อสร้างวิหารหลวงครอบรอยพระพุทธบาทโดยหลวงปู่ครูบาวงศ์

ด้านในวิหารหลวง

ห้องพระด้านในของพระวิหาร

จิตรกรรมฝาผนังด้านในวิหารหลวง

จิตรกรรมฝาผนังด้านในวิหารหลวง
ด้านในวิหารหลวงประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ หลวงปู่ครูบาเจ้า 5 องค์ ด้านในสุดของวิหารหลวงเป็นห้องพระที่หลวงปู่ครูบาวงศ์เคยใช้เป็นห้องสวดมนต์ ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารบอกเล่าเรื่องราวของครูบาวงศ์ฯ ตั้งแต่เกิดไปจนถึงเรื่องราวหลังมรณภาพ และพร้อมกันนั้นก็ได้บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนพระบาทห้วยต้ม

ด้านหลังวิหารหลวงมี “พระเจดีย์ 84,000 พระธรรมขันธ์” บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปจำนวนกว่า 8 หมื่น 4 พันองค์ นอกจากนี้ยังมี “วิหารพระเมืองแก้ว” ที่ประดิษฐานพระสรีระของหลวงปู่ครูบาวงศ์และพระพุทธรูปปางเปิดโลก โดยหลวงปู่ครูบาวงศ์มรณภาพเมื่อปี 2543 และในวันที่ 17 พ.ค ซึ่งเป็นวันคล้ายวันละสังขารของหลวงปู่ครูบาวงศ์ ชุมชนพระบาทห้วยต้มจะมีการทำบุญเปลี่ยนครองสรีระเป็นประจำทุกปี

วิหารพระเมืองแก้ว

ด้านในวิหารพระเมืองแก้ว

พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
ห่างจากตัววัดไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะมี “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่สีทองงามอร่าม หลวงปู่ครูบาวงศ์สร้างขึ้นเพราะเชื่อว่าสถานที่ตรงนี้มีการขุดค้นพบมูลและเขาของพระโคอุศุภราช (พระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า) ซึ่งกลายสภาพเป็นหิน ท่านก็เลยอธิษฐานสร้างครอบมูลและเขาของพระโคไว้

ดังที่บอกว่าชาวบ้านห้วยต้มมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และหลวงปู่ครูบาวงศ์เป็นอย่างมาก ในทุกๆ เช้าจะมีการ “ตักบาตรผัก” หรือทำบุญใส่บาตรด้วยอาหารมังสวิรัติ โดยการตักบาตรผักนี้จะทำเป็นประจำทุกวัน แต่ในวันหยุดหรือวันพระใหญ่ จะมีชาวบ้านพากันมาทำบุญมากกว่าในวันปกติ

ชาวบ้านมาทำบุญที่วัด

ตักบาตรผักยามเช้า

ตักบาตรผัก
ตั้งแต่เช้าตรู่ราว 6 โมงเช้า ชาวบ้านจะทยอยมาที่วัดพระบาทห้วยต้ม แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองคือชุดปกาเกอะญอ มารวมตัวกันที่ศาลาใส่บาตร หลังจากวางข้าวของจับจองที่นั่งแล้วแต่ละคนจะกราบพระพุทธเพื่อขอขมาลาโทษต่อสิ่งไม่ดีที่ได้กระทำ จากนั้นจะถวายดอกไม้และอาหารทั้งคาวหวานที่เตรียมมาวางไว้ใส่ถาดเพื่อเตรียมถวายพระพุทธและพระสงฆ์

จากนั้นราว 07.00 น. พระสงฆ์จะลงมายังศาลาใส่บาตร นำโดยหลวงพ่อเจ้าอาวาสที่จะนั่งบนอาสนะหัวแถว พระสงฆ์จะสวดมนต์ จากนั้นก็ถึงเวลาใส่บาตรข้าวสวยและข้าวเหนียว โดยผู้ชายที่มีอาวุโสที่สุดจะเป็นผู้นำใส่บาตร ไล่ไปเรื่อยๆ จนถึงเด็กผู้ชาย จากนั้นจึงเริ่มเป็นผู้หญิงที่มีอาวุโสที่สุดไปจนถึงเด็กผู้หญิง ทุกคนต่อแถวใส่บาตรกันอย่างเป็นระเบียบ เริ่มจากบาตรของพระพุทธ บาตรหน้ารูปเหมือนหลวงปู่ครูบาวง และบาตรของหลวงพ่อเจ้าอาวาสและพระลูกวัดตามลำดับ ข้าวเหนียวหยิบเป็นก้อนใส่ในบาตร ส่วนข้าวสวยตักเป็นช้อนในกะละมัง เมื่อตักบาตรกันครบทุกคนแล้วจึงค่อยกรวดน้ำรับพร เป็นอันเสร็จพิธีตักบาตรในช่วงเช้า

ตักบาตรผัก

ตักบาตรผัก

สังฆทานผัก
ส่วนการทำบุญในวันพระจะมีความพิเศษเพิ่มมาอีกคือ ช่วงสายจะมีการทำ “สังฆทานผัก” โดยชาวบ้านก็จะเริ่มนำ ผัก ผลไม้สดมาถวายที่วัด เริ่มจากการใส่ขันดอกไม้ธูปเทียนก่อน แล้วจึงตามด้วยผัก ผลไม้ ทั้งนี้สามารถนำน้ำและขนมมาถวายได้ มีการใส่ขันเงิน คือการนำเหรียญบาท ห้าบาท สิบบาท หรือธนบัตร ใส่ในบาตรหรือขันพาน และเมื่อได้เวลาอันสมควร ชาวบ้านนำโดยผู้ชายจะนําผัก ผลไม้ที่ชาวบ้านใส่ไว้ในภารชนะนํามาวางเรียงไว้หน้าพระสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์จะสวดมนต์และเทศนาธรรม ส่วนในช่วงเย็นจะมีการเวียนเทียนกันที่วัดพระบาทห้วยต้มและที่พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยด้วย

เวียนเทียนในวันพระที่พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย

ตักบาตรผักในยามเช้า
* * * * * * * * * * * * * *

“วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม” ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน (อยู่ห่างจากตัวเมืองลำพูนราว 115 กิโลเมตร) สามารถติดต่อกับทางกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนพระบาทห้วยต้ม นำโดยคุณวิมล สุขแดง ประธานกลุ่มได้ที่ โทร.06-2420-9075 หรือสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง (ดูแลลำปาง ลำพูน) โทร.0-5422-2214

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น