ช่วงนี้จะเห็นว่ามีหลายอุทยานแห่งชาติทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวชมในเขตอุทยานฯ กันบ้างแล้ว ซึ่ง “อุทยานแห่งชาติภูเวียง” จ.ขอนแก่น ก็เป็นอีกแห่งหนึ่ง ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ New Normal แล้วเช่นกัน
โดย “อุทยานแห่งชาติภูเวียง" มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอภูเวียง อำเภอสีชมพู อำเภอชุมแพ อำเภอเวียงเก่า และอำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งคำว่า “ภูเวียง” เป็นท้องที่อำเภอที่เก่าแก่ของจังหวัดขอนแก่นอำเภอหนึ่ง และยังเป็นชื่อเรียกของเทือกเขาที่สำคัญอีกด้วย
ในอดีตมีหลักฐานว่าป่าภูเวียงเคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่มีอารยธรรมเมื่อหลายพันปีล่วงมาแล้ว มีการขุดพบกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องมือ เครื่องใช้ โลหะสำริด พระนอนสมัยทวาราวดี รวมทั้งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำ (หลืบเงิน) บนเทือกเขาภูเวียง นอกจากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2519 มีการค้นพบรอยเท้าและซากกระดูกไดโนเสาร์ และสัตว์โลกดึกดำบรรพ์อายุเกือบ 200 ล้านปี จนทำให้หลายคนรู้จักชื่อของภูเวียงว่ามีความโดดเด่นเรื่องซากกระดูกไดโนเสาร์นั่นเอง
ที่นี่เป็นแหล่งค้นพบซากไดโนเสาร์ครั้งแรกของไทย และเป็นแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์สำคัญอีกด้วย ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ มีมากมาย สามารถแบ่งออกเป็น 3 โซน เริ่มที่โซนแรกคือ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติเฉลิมพระเกียรติหลุมขุดค้นไดโนเสาร์” ที่หากใครชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวไดโนเสาร์ต้องไม่ควรพลาด
โดย “หลุมขุดค้นฟอสซิลไดโนเสาร์” ภายในเส้นทางนี้มีทั้งหมด 9 หลุม แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม 4 หลุม ทุกหลุมจะสร้างอาคารกระจกครอบหลุมขุดค้นไว้ เพื่อเป็นการดูแลรักษาและป้องกันไม่ให้กระดูกเกิดความเสียหาย
เริ่มที่ “หลุมขุดค้นที่ 1” (ประตูตีหมา) เป็นหลุมขุดที่มีความสำคัญมาก โดยพบตั้งแต่ปี 2525 ที่นี่พบกระดูก “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” เพื่อเทิดพระเกียรติแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่มากกว่า 20 ชิ้น และพบกระดูกหลายชิ้นของ “คอมพ์ซอกนาธัส” ไดโนเสาร์ตัวเล็กเท่าแม่ไก่
ส่วน “หลุมขุดค้นที่ 2” (ถ้ำเจีย) พบเมื่อเดือนกันยายน 2530 ที่นี่พบฟอสซิลกระดูกคอของไดโนเสาร์ซอโรพอด (Sauropod) หรือไดโนเสาร์กินพืช จำนวน 6 ชิ้นวางเรียงต่อกัน ต่อมาคือ “หลุมขุดค้นที่ 3” (ห้วยประตูตีหมา) มีลักษณะเป็นอาคารห้องกระจกหลังย่อมๆ สร้างครอบซากฟอสซิลเอาไว้ (เพื่อเป็นการดูแลรักษา ป้องกันไม่ให้กระดูกเกิดความเสียหาย ) ค้นพบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2536 ที่นี่พบกระดูกไดโนเสาร์ส่วนกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครงขนาดใหญ่หลายชิ้น ฝังตัวอยู่ในชั้นหินทราย อายุประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว เป็นไดโนเสาร์ชนิดกินพืช (Sauropod) ภูเวียง โกซอรัส สิรินธรเน เช่นกัน
หลุมสุดท้ายคือ “หลุมขุดค้นที่ 9” (หินลาดยาว) ค้นพบเมื่อเดือนสิงหาคม 2536 ที่นี่พบกระดูกตรงส่วนสันหลังหลายชิ้นโผล่มาจากชั้นหินทรายสีแดง และก็มีกระดูกสะโพกด้านซ้าย กระดูกโคนหางกว่า 10 ชิ้น ของไดโนเสาร์กินเนื้อ (carnosaur) ซึ่งเป็นกระดูกสกุลและชนิดใหม่ของโลกที่ขุดค้นพบ มีชื่อว่า “สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส" หรือ “ไทรันสยาม” มีความยาวประมาณ 7 เมตร ลักษณะกระดูกบ่งว่าเป็นบรรพบุรุษของทีเร็กซ์
และในเส้นทางนี้ยังมี “ผากาลเวลา” เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมากเช่นกัน ซึ่งที่มาของชื่อผากาลเวลาแห่งนี้ก็คือ เป็นหน้าผาที่สามารถมาชมวิวธรรมชาติที่มีเรื่องราวย้อนอดีตไปกว่า 130 ล้านปี ซึ่งอดีตเคยเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ จึงเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของไดโนเสาร์นานาชนิด เมื่อเวลาผ่านไปไดโนเสาร์ที่ตายลงจะถูกตะกอนแม่น้ำฝังกลบไว้จนกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์หลงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังอย่างเราได้ตามรอย
โซนที่สองคือ “เส้นทางตาดฟ้า” เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางที่เน้นชมธรรมชาติภายในเขตอุทยานฯ ซึ่งในเส้นทางนี้จะมีไฮไลต์เด่นอยู่ที่ “ผาชมตะวัน” ที่เป็นจุดชมวิวมีลักษณะเป็นลานหินที่เกิดจากการยกตัวของแผ่นเปลือกโลกและรอยเลื่อนทำให้เกิดเป็นหน้าผาซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพสวยงามด้านล่าง และสามารถมองเห็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ได้ด้วย นับว่าเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าที่สวยงามอีกจุดหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น
ผาชมตะวันนั้นอยู่ในเขตอำเภอเวียงเก่า อยู่ห่างจากน้ำตกตาดฟ้าประมาณ 2.5 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากลานกางเต็นท์ตาดฟ้าประมาณ 3 กิโลเมตร สามารถขับรถเก๋งขึ้นไปชมได้ โดยขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ส.ค. 64) ผาชมตะวันเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 05.30 น. เป็นต้นไป
ในเส้นทางนี้ยังสามารถชม 2 น้ำตกสวยประจำอุทยานฯ ได้แก่ “น้ำตกวังสักสิ่ว” ที่เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ที่สายน้ำทิ้งตัวไปตามลานหินกว้างและยาว เป็นระยะทางประมาณ 100 เมตร ด้านล่างลานหินมีอ่างธารน้ำใหญ่และลึก หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วังน้ำ” ซึ่งวังน้ำนี้มีน้ำตลอดปี น้ำตกวังสักสิ่วถือเป็นน้ำตกที่ยังคงความสวยงามเป็นธรรมชาติ ร่มรื่น เหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และ “น้ำตกตาดฟ้า” เป็นน้ำตกขนาดกลางอยู่ทางทิศเหนือของเทือกเขาภูเวียง น้ำตกมีความสูงประมาณ 15 เมตร มีความสวยงามไม่แพ้กัน
รวมถึงมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติต้นยางใหญ่ให้ได้เดินชม “ต้นยางใหญ่” ที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัดรอบลำต้นได้ 9.59 เมตร (ขนาดประมาณ 8 คนโอบ) ความสูง 25 เมตร อยู่ห่างจากลานกางเต็นท์ตาดฟ้าประมาณ 2.5 กิโลเมตร
และโซนสุดท้ายคือ “เส้นทางอุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียงเฉลิมพระเกียรติฯ” ซึ่งเป็นโซนที่ถูกใจเด็กๆ อย่างแน่นอน เพราะเป็นสวนไดโนเสาร์กลางแจ้งนานาชนิด ที่สามารถเคลื่อนไหวและส่งเสียงร้องได้ และมีจุดนั่งเล่นพักผ่อนชมธรรมชาติน้ำตกจำลองได้ด้วย
นอกจากนั้นในเขตอุทยานฯ ยังมี “พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง” ให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกดึกดำบรรพ์อีกด้วย โดยภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะแบ่งส่วนของโซนนิทรรศการออกเป็นทั้งหมด 5 โซนด้วยกัน
ส่วนแรกเป็นการบอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับจักรวาลและโลกต่อด้วยส่วนของการเล่าถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันนี้ ถัดจากนั้นมาจะเป็นส่วนของการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับหินและแร่ธาตุต่างๆ
บริเวณใจกลางห้องพิพิธภัณฑ์จะเจอกับหุ่นจำลองไดโนเสาร์ตัวใหญ่ยักษ์ (ทำจากแท่งเหล็ก) หลายตัว รวมไปถึงมีฟอสซิลไดโนเสาร์จำลอง (จากเรซิ่น) จัดแสดงอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่ขุดค้นพบที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ ที่มีการขุดค้นพบ
ส่วนต่อไปคือ “สวนไดโนเสาร์” จะเป็นการจำลองบรรยากาศของป่าดึกดำบรรพ์โลกล้านปี โดยทำเป็นทางเดินไม้ให้เดินลัดเลาะไปตามจุดต่างๆ ระหว่างทางเดินสองข้างทางก็จะมีไดโนเสาร์ที่สำรวจพบที่ภูเวียงแห่งนี้ จำลองเป็นรูปร่างเหมือนจริงให้ได้ชมกัน อย่างเช่น ไดโนเสาร์กินเนื้อไทรันสยาม, ไดโนเสาร์กินพืชภูเวียง โกซอรัส ที่ยืนคอยาวอยู่ โดยจะมีข้อมูลอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับไดโนเสาร์แต่ละตัวไว้อย่างครบครัน
ใครอยากมาตะลุยโลกล้านปี ชมธรรมสวยงามภายในอุทยานแห่งชาติภูเวียงแห่งนี้ สามารถมาท่องเที่ยวได้แล้วแบบ New Normal ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30 - 16.30 น. โดยยังไม่เปิดให้เข้ามาพักแรมกางเต็นท์
สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติภูเวียงได้ที่โทร. 0-43438333 หรือที่ อุทยานแห่งชาติภูเวียง - Phu Wiang National Park
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline