กรมศิลปากร จัดนิทรรศการพิเศษ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ประเทศไทย” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันนี้ - 30 กันยายน 2564 เวลา 09.00 – 16.00 น. ทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ และอังคาร)
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร หลังจัดพิธีรับมอบทับหลังทั้ง 2 รายการแล้ว ได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ประเทศไทย” โดยนิทรรศการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของทับหลังทั้ง 2 รายการ หลักฐานต่าง ๆ ที่ได้สืบค้น รวมถึงขั้นตอนการดำเนินงานในการติดตาม เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงขั้นตอนและวิธีการกว่าจะได้มาซึ่งโบราณวัตถุที่ต้องใช้ระยะเวลา ความพยายาม และความร่วมมือจากหลายฝ่าย อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกรักและหวงแหนมรดกวัฒนธรรมของไทยและร่วมกันปกป้องดูแลรักษาให้สืบทอดไปยังคนรุ่นหลังต่อไป
นิทรรศการพิเศษ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ประเทศไทย” จัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันนี้ - 30 กันยายน 2564 ทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ และอังคาร) เวลา 09.00 – 16.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โทรศัพท์ 02224 1402 , 02224 1370
เป็นเวลามากกว่า 50 ปี ที่ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น
จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นส่วนประกอบของโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ได้ถูกโจรกรรมและนำออกไปจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายโดยขบวนการลักลอบค้าโบราณวัตถุเพื่อส่งต่อให้กับนักสะสมและพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งกรณีของทับหลังทั้งสองรายการนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่มรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยถูกลักลอบนำออกไป ที่ผ่านมาทับหลังจากปราสาทกู่สวนแตง และปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ก็เคยถูกโจรกรรมไป และได้ติดตามนำกลับคืนมาแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2513 และ พ.ศ. 2531 ตามลำดับ
สำหรับทับหลัง คือ ส่วนประกอบของศาสนสถานจำพวกปราสาทหินในวัฒนธรรมเขมรโบราณ โดยมีลักษณะเป็นแผ่นหินรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าติดตั้งอยู่เหนือกรอบประตูของอาคารหรือปราสาทหิน วัสดุหลักที่ใช้ทำทับหลังคือหินทราย โดยจะมีการจำหลักลวดลายเป็นภาพเล่าเรื่อง ภาพเทพต่างๆ หรือลวดลายประดับลงบนทับหลัง ลวดลายเหล่านี้มีรูปแบบและวิวัฒนาการในการสร้างที่ชัดเจน จึงสามารถใช้เป็นสิ่งที่ช่วยกำหนดอายุในการสร้างโบราณสถานนั้น ๆ ได้ และทับหลังก็มีรูปแบบเฉพาะที่แตกต่างกันไปเนื่องจากเป็นของที่แกะสลักขึ้นมาทีละชิ้น มีเอกลักษณ์และสวยงาม เป็นที่ต้องการของเหล่าบรรดาผู้สะสมโบราณวัตถุ ในอดีตจึงมักถูกโจรกรรมจากแหล่งโบราณสถานที่อยู่ห่างไกลและลักลอบนำออกไปขายยังต่างประเทศ
ทับหลังปราสาทหนองหงส์
ทับหลังปราสาทหนองหงส์ เป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของ “ปราสาทหนองหงส์” ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ (ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเขื่อนลำนางรอง)
ปราสาทหนองหงส์ เป็นโบราณสถานขนาดเล็กประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงต่อเนื่องเป็นฐานเดียว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูเข้าออกด้านหน้า ส่วนประตูอีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก
อายุสมัยของปราสาทหนองหงส์ เมื่อดูจากลักษณะการก่อสร้างและศิลปกรรมที่พบ ตรงกับศิลปะเขมรแบบ บาปวน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกันกับนครวัด-นครธม ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักทั่วโลก และร่วมสมัยกับปราสาทเมืองต่ำ - ปรางค์น้อย ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทโคกปราสาทเหนือ ใน จ.บุรีรัมย์
สำหรับทับหลังของปราสาทหนองหงส์ เป็นทับหลังที่ทำจากหินทราย จำหลักรูปพระยมทรงกระบือ ประทับเหนือหน้ากาล โดยตามความเชื่อของศาสนาฮินดูนั้น “พระยม” ถือเป็นเทพประจำทิศใต้ และเป็นเทพแห่งความตาย ทรงกระบือเป็นพาหนะ พระหัตถ์ขวาถือคฑาเป็นอาวุธ มีดาวอังคารเป็นดาวประจำองค์
ทับหลังพระยมทรงกระบือแห่งปราสาทหนองหงส์นี้มีภาพเก่าแก่ที่อาจารย์มานิต วัลลิโภดม นักโบราณคดีของไทยได้ถ่ายภาพไว้ขณะออกสำรวจเมื่อราว พ.ศ.2503-2504 ซึ่งขณะนั้นทับหลังยังคงอยู่คู่กับตัวปราสาทฝั่งทิศใต้ ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการอ้างอิงว่าทับหลังชิ้นนี้เป็นของไทยอย่างแท้จริง
ทับหลังปราสาทเขาโล้น
ทับหลังปราสาทเขาโล้น เป็นโบราณวัตถุสำคัญของ “ปราสาทเขาโล้น” ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดปราสาทเขาโล้น บ้านเจริญสุข ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว
ปราสาทเขาโล้น ตั้งอยู่เหนือยอดเขาโล้นซึ่งเป็นเขาเตี้ย ๆ เป็นปราสาทก่อด้วยอิฐ ส่วนยอดของปราสาทหักหาย ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางเข้าด้านเดียวอีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก
สำหรับทับหลังปราสาทเขาโล้น เป็นทับหลังที่ทำจากหินทราย จำหลักลายพระอินทร์เหนือเกียรติมุข
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline