รายงานกรมศิลป์ ระบุ บ้านเขียวถูกทุบที่เมืองแพร่ ไม่ใช่อาคารบอมเบย์เบอร์มา แต่เป็นอาคารสำนักงานป่าไม้เขตแพร่ ด้านการปรับปรุงอาคาร มีขั้นตอนดำเนินงานที่เป็นวิชาการเพื่อคงไว้ซึ่งคุณค่าของอาคารหลังนี้อย่างครบถ้วน
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยข้อมูลใหม่ ของบ้านเขียว จ.แพร่ ที่ถูกทุบจนกลายเป็นประเด็นข่าวใหญ่โตก่อนหน้านั้น ผ่านทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชโดยกรมอุทยานฯ ได้อ้างอิงข้อมูลจาก “รายงานสรุปการขุดตรวจทางโบราณคดี อาคารศูนย์การเรียนรู้ป่าไม้สวนรุกขชาติเชตวัน กรมศิลปากร” ดังนี้
จากการประชุมสรุปผลการพิจารณาผังรูปแบบที่จะใช้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูอาคารศูนย์การเรียนรู้การป่าไม้ จังหวัดแพร่ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24ธันวาคม 2563 ณ ห้องประชุมศูนย์ศึกษาการพัฒนาการอนุรักษ์ต้นน้ำลุ่มน้ำยม ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้สรุปผลการขุดตรวจทางโบราณคดีอาคารศูนย์การเรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตะวัน โดยระบุว่า อาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกชาติเชตวัน ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองแพร่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ ริมแม่น้ำยมในเขตบ้านเชตวัน อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เดิมเชื่อกันว่าอาคารหลังนี้เป็นอาคารที่ทำการของบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำกิจการอุตสาหกรรมป่าไม้ในเมืองแพร่ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5
ต่อมาจากการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องพบว่าอาคารหลังดังกล่าวน่าจะเป็นอาคารที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ กรมป่าไม้สยาม ซึ่งน่าจะสร้างในปี 2444 เพื่อเป็นสำนักงานควบคุมกิจการการทำไม้ของบริษัทต่างชาติในพื้นที่เมืองแพร่ จากข้อมูลภาพถ่ายเก่าพบว่า อาคารเป็นเรือนไม้ประยุกต์ มีลักษณะแบบอาคารทางราชการที่มีในเวลานั้น ที่นิยมสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่มีบริษัทต่างชาติได้รับสัมปทานเข้ามาทำอุตสาหกรรมป่าไม้ อาทิ อาคารสำนักงานป่าไม้ภาคเดิมที่ เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ ฯลฯ อาคารหลังนี้จึงเป็นอาคารอนุสรณ์สถานสำคัญที่เก่าแก่ที่สุดหลังหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการอุตสาหกรรมป่าไม้ในเมืองแพร่ ปัจจุบันอาคารหลังนี้อยู่ในเขตสวนรุกขชาติเชตวัน อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับอาคารป่าไม้เขตแพร่ ถึงหลักฐานจะชี้ชัดว่าไม่ใช่บอมเบย์เบอร์มา แต่คุณค่าไม่น้อยกว่ากัน ข้อมูลจากหนังสือ "ระยะทางไปมณฑลภาคพายัพ พระพุทธศักราช 2465" ซึ่งเป็นเอกสารการตรวจราชการของกรมการปกครอง ระบุถึงการมีอยู่ของอาคารที่ทำการกองป่าไม้และบริษัทบอมเบย์เบอร์มาว่าตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยตั้งอยู่นอกเมืองด้านทิศใต้ใกล้แม่น้ำยม " ในเมืองข้างกำแพงเมืองทางทิศใต้มีห้างของบริษัทอิสเอเชียติก นอกเมืองทางทิศใต้ มีถนนแยกไปทางทิศตะวันตกถึงลำน้ำยม ในถนนนี้มีที่ทำการกองป่าไม้ และห้างบอมเบเบอร์มา " จากเนื้อความพบว่าบันทึกนี้มิได้ให้รายละเอียดในเชิงตำแหน่งว่าอาคารทั้งสองแห่งตั้งอยู่สัมพันธ์กันอย่างไร
ข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลียม ฮันท์ ในปี 2487 คือ หลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงเห็นถึงลักษณะและสภาพแวดล้อมของอาคาร โดยพบว่าบริเวณริมแม่น้ำยม ในพื้นที่บ้านเชตวัน ปรากฏกลุ่มอาคาร 2 กลุ่ม กลุ่มแรกตั้งอยู่ด้านทิศเหนือ กลุ่มที่สองตั้งอยู่ด้านทิศใต้โดยมีถนนเชตวันคั่นจากที่ตั้งและการใช้งานอาคารในปัจจุบัน พื้นที่กลุ่มอาคารด้านทิศใต้ที่ปรากฏในภาพถ่ายเก่า ปัจจุบัน คือ พื้นที่สวนรุขชาติเชตวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารที่ถูกรื้อถอน โดยอาคารหลังดังกล่าวนี้เมื่อสืบประวัติย้อนกลับไป พบหลักฐานว่าอย่างน้อยที่สุดในราวปี 2495-2498 อาคารมีสถานะเป็นสำนักงานป่าไม้เขตแพร่ ซึ่งเมื่อลำดับประวัติการตั้งสำนักงานป่าไม้เขตแพร่ที่มีมาตั้งแต่ปี 2444 ไม่พบเรื่องราวที่กล่าวถึงการย้ายที่ทำการสำนักงานฯ ไปในบริเวณอื่นภายในจังหวัดก่อนปี 2515 นั่นจึงแสดงให้เห็นว่า อาคารหลังดังกล่าวนี้ คืออาคารในราชการของกรมป่าไม้มาโดยตลอด และสรุปได้ในข้างต้นว่ากลุ่มอาคารที่เหลืออยู่ทางทิศเหนือ น่าจะเป็นที่ทำการสำนักงานบริษัทบอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง
จากการนำภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ในปี 2487 ทับซ้อนกับภาพถ่ายทางอากาศสภาพพื้นที่ปัจจุบัน พบว่าพื้นที่กลุ่มอาคารด้านทิศเหนือ ได้กลายเป็นแนวแม่น้ำยมไปแล้วทั้งหมด จึงกล่าวได้ว่าที่ทำการสำนักงานบริษัทบอมเบย์เบอร์มาได้พังทลายลงไปในแม่น้ำยมทั้งหมดแล้วในอดีต จากการกัดเซาะตลิ่งและเปลี่ยนเส้นทางเดินของแม่น้ำในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นโค้งลำน้ำ โดยห้วงเวลาที่อาคารที่ทำการบริษัท บอมเบย์เบอร์มาพังทลายหายไปนี้ น่าจะเกิดขึ้นหลังปี 2487 แต่น่าจะเกิดขึ้นก่อนปี 2505 ดังที่ไม่ปรากฏพื้นที่อาคารที่ทำการบริษัทฯ เป็นส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นแปลงที่ดินที่เกิดจากการรวมที่ดิน 3 แปลง คือ แปลงของกรมป่าไม้ แปลงของบริษัทแองโกสสยามคอเปอเรชั่น และแปลงของบริษัทอีสต์เอเชียติกที่ขายให้กรมตำรวจ ซึ่งแปลความได้ว่า พื้นที่แปลงของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาส่วนหนึ่งอาจพังทลายลงแม่น้ำไปก่อนโดยยังมีบางส่วนคงเหลือที่ขายให้รัฐบาลไทยในปี 2500 นำไปสู่การนำที่แปลงดังกล่าวมารวมกันจนกลายเป็นโฉนดแปลงเดียวในปี 2505 ซึ่งก็คือที่ดินสวนรุกขชาติเชตะวันในปัจจุบัน
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2563 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) ได้มีโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารดังกล่าว โดยในการดำเนินงานได้เกิดกรณีข้อวิพากษ์จากภาคประชาสังคมในกระบวนการดำเนินงานที่ยังขาดกระบวนการศึกษาทางวิชาการในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการอนุรักษ์อาคารและสภาพแวดล้อมภูมิทัศน์ดั้งเดิมอย่างเป็นวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) จึงได้บูรณาการร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กรมศิลปากร จัดทำกิจกรรมการศึกษา ฯ ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อให้การดำเนินงานปรับปรุงอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ มีขั้นตอนดำเนินงานที่เป็นวิชาการเพื่อให้สามารถคงไว้ซึ่งคุณค่าของอาคารหลังนี้อย่างครบถ้วน ซึ่งแนวทางการบูรณะฟื้นฟูจะนำเอาองค์ประกอบเดิมของอาคารกลับมาใช้ตามรูปแบบสันนิษฐานที่ได้รับความเห็นชอบโดยนำกลับสู่ตำแหน่งเดิมให้ได้มากที่สุด มีการจัดทำรากฐานใหม่ เพื่อเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนจังหวัดแพร่ต่อไป