แพร่ - ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ไม่ติดใจ..หลังกรมศิลป์ฟันธงบ้านโบราณแพร่ถูกรื้อเหลือแต่ซาก ไม่ใช่บ้านบอมเบย์เบอร์มา ชี้เป็นหนึ่งในบ้านประวัติศาสตร์การป่าไม้อายุกว่า 120 ปี พร้อมปลุกคนแพร่ร่วมเวทีประชาคมคืนชีพบ้านโบราณมกราฯ 64
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า หลังจากตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมศิลปากร หารือกับผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภาคประชาสังคมและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องใน จ.แพร่ เกี่ยวกับการรื้อถอนอาคารป่าไม้เขตแพร่ หรือที่ประชาชนเข้าใจกันว่าเป็นอาคารบอมเบย์เบอร์มา ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอนุรักษ์ต้นน้ำลุ่มน้ำยม
กรมศิลปากรได้รายงานกระบวนการที่ได้ตรวจสอบและศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า อาคารหลังดังกล่าวไม่ใช่อาคารบอมเบย์เบอร์มา แต่เป็นอาคารป่าไม้เขตแพร่หลังแรกที่สร้างขึ้นเพื่อกำกับควบคุมกิจการการทำป่าไม้ของบริษัทต่างชาติในเมืองแพร่ในห้วงเวลานั้น เป็นประจักษ์พยานและเป็นหลักฐานเกี่ยวกับการเกิดอุตสาหกรรมป่าไม้ใน จ.แพร่
อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวอีกว่า กรมศิลปากรจึงได้สร้างความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาสังคม ซึ่งทุกฝ่ายให้การยอมรับและเข้าใจตรงกัน จากนั้นได้วางหลักการการรื้อฟื้นอาคารโดยคงความจริงแท้ของอาคาร ทั้งในเชิงรูปแบบ วัสดุ ฝีมือเชิงช่าง สถานที่ และการสื่อความหมายของอาคาร
แบ่งการทำงานในช่วงแรกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. การจัดทำข้อมูลไม้ที่เป็นองค์ประกอบส่วนต่างๆ ของอาคาร โดยมีไม้โครงสร้างเดิมที่ใช้งานได้ 80% ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญทั้งคาน เสาบ้าน ประตู ซึ่งสามารถนำมาประกอบเข้าด้วยกันใหม่ได้ ส่วนไม้ที่ผุพังแล้ว 20%
2. การขุดตรวจทางโบราณคดี และ 3. การสันนิษฐานรูปแบบและโครงสร้างของอาคารในสมัยต่างๆ ที่มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงรูปแบบ
อธิบดีกรมศิลปากรยืนยันให้ภาคประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้อาคารรูปแบบเดิมกลับคืนมาอย่างมีหลักการทางวิชาการรองรับอย่างแน่นอน และต่อจากนี้กรมอุทยานฯ จะทำประชาพิจารณ์กับภาคประชาสังคมเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นตามความต้องการของประชาชน และกรมอุทยานฯ ที่จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยกรมศิลปากรจะเป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการต่อไป
“เรามั่นใจว่าจะสามารถนำรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมกลับมาได้ทั้งหมด ซึ่งจากการพูดคุยมีเสียงตอบรับดีมากจากทุกฝ่าย ซึ่งกรมอุทยานฯ พร้อมที่จะพูดคุยกับท้องถิ่นและรับข้อเสนอมาปรับใช้ในการฟื้นฟูอาคารหลังนี้ เมื่อมีการพิจารณาและตัดสินใจก่อสร้างรูปแบบอาคารว่าในอนาคตอาคารหลังนี้จะใช้ประโยชน์ในด้านใดบ้าง ก็จะสรุปผลส่งต่อมายังกรมศิลปากร เพื่อนำโจทย์มาจัดสร้างอาคารให้ตรงความต้องการของทุกฝ่ายต่อไป”
ด้านนายธีรวุธ กล่อมแล้ว ประธานภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าจังหวัดแพร่ เปิดเผยถึงกรณีที่อาคารประวัติศาสตร์ที่ถูกรื้อไม่ใช่บ้านบอมเบย์ฯ อย่างที่เข้าใจ ว่า จากการที่กรมศิลปากรได้ตรวจสอบทางโบราณคดีนั้น สรุปได้ว่าบ้านเก่าที่รื้อไปนั้นไม่ใช่บ้านบอมเบย์เบอร์มา ซึ่งจริงๆ แล้วบ้านบอมเบย์เบอร์มาถูกน้ำยมพัดไปก่อนแล้ว เพราะจากการตรวจสอบทางภาพถ่ายทางอากาศมีการเปลี่ยนเส้นทางน้ำยมบ้านบอมเบย์ฯ จะอยู่ในเส้นทางน้ำปัจจุบัน
ส่วนที่รื้อปรับปรุงและเป็นข่าวใหญ่นั้นเป็นที่รับรองหรือสำนักงานป่าไม้เก่า เพราะแผนที่ทางอากาศในปีนั้นกับในปัจจุบันนำมาเปรียบเทียบแล้วบ้านที่ถูกรื้อถอนและพิสูจน์ทางโบราณคดีไม่ใช่บ้านบอมเบย์ฯ หรืออาคารศูนย์การเรียนรู้ป่าไม้สวนรุกขชาติเชตะวัน
ในส่วนของเครือข่ายฯ ไม่ติดใจเรื่องเป็นบ้านบอมเบย์เบอร์มาหรือไม่ เพราะอาคารที่รื้อถึงแม้ว่าจะเป็นอาคาร สนง.ป่าไม้ แต่ก็มีอายุ 120 ปี ก็ถือว่าเก่าแก่ ซึ่งเบื้องต้นทางกรมป่าไม้มีงบประมาณการก่อสร้างอยู่แล้ว แต่ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบ ซึ่งจะมีด้วยกัน 5 แบบ
“ปีหน้าประมาณเดือนมกราฯ 64 จะมีการประชาคมกับคนแพร่ว่าจะเอาอาคารแบบไหน ขอชาวแพร่ตื่นตัวออกมาช่วยกันทำประชาคมเพื่อจะได้อาคารเรือนไม้ที่เป็นของคนแพร่ และชาวแพร่จะได้มีส่วนร่วมในการบูรณาการร่วมกัน เป็นต้นแบบในเรื่องอื่นๆ ในการพัฒนาจังหวัดแพร่ต่อไป”
กระแสวิพากษ์วิจารณ์การทุบรื้ออาคารเก่าแก่ที่เมืองแพร่กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เมื่อภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่แพร่ภาพอาคารดังกล่าวถูกทุบทิ้งช่วงเดือนมิถุนายน 63 ที่ผ่านมา จากนั้นโลกโซเชียลก็แห่แชร์พร้อมกับตั้งข้อสงสัยต่างๆ นานาว่าทำไมไม่อนุรักษ์เอาไว้ให้เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ และประวัติศาสตร์การเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมป่าไม้ของบริษัทข้ามชาติในอดีต
ซึ่งอาคารดังกล่าวเป็นอาคารไม้ประยุกต์แบบอาณานิคมอังกฤษ อายุ 120 ปี อยู่ในครอบครองของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 และดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนรุกขชาติเชตะวัน หลังจากได้รับงบประมาณที่ขอไว้ในปี พ.ศ. 2561-2562 กระทั่งทำให้อาการเก่าแก่ดังกล่าวถูกรื้อถอนเหลือแต่ซาก