xs
xsm
sm
md
lg

ล่องแพเปียก-ส่องช้างป่า ชิมน้ำผึ้งแท้จากผึ้งกล่อง ณ “ช่องสะเดา”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ล่องแพเปียกกลางแม่น้ำแควใหญ่ที่ชุมชนช่องสะเดา
แม่น้ำแควใหญ่ที่ใสไหลเย็น เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี ที่มีต้นน้ำกำเกิดจากเทือกเขาถนนธงชัย ในอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก จากนั้นไหลผ่านเขาสูงและป่าทึบลงทางทิศใต้ เข้าเขตจังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันมีเขื่อนศรีนครินทร์สร้างกั้นลำน้ำ ก่อนจะไหลมาทางท้ายเขื่อน ผ่านอำเภอศรีสวัสดิ์ มาบรรจบกับลำน้ำแควน้อยที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี กลายเป็นแม่น้ำแม่กลองไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย


ระหว่างเส้นทางที่แม่น้ำแควใหญ่ไหลผ่านจังหวัดกาญจนบุรีนั้น ด้วยทิวทัศน์ที่งดงามของหุบเขาและป่าไม้เขียวขจีรอบด้าน รวมถึงสายน้ำใสไหลเย็น ทำให้เกิดกิจกรรมท่องเที่ยวยอดนิยมสุดชิล นั่นก็คือการ “ล่องแพเปียก” ซึ่งก็มีผู้ให้บริการหลายเจ้าด้วยกัน

ดังเช่นวันนี้ที่เราได้มาสนุกสนานกับการล่องแพเปียกกันที่ “ช่องสะเดา” ชุมชนท่องเที่ยวใกล้กับเขื่อนท่าทุ่งนา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี และอยู่ไม่ไกลจากเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ ห่างกันเพียง 27 ก.ม. เท่านั้น

ที่ชุมชนช่องสะเดา นอกจากจะมีกิจกรรมท่องเที่ยวล่องแพเปียกแล้ว ยังเป็นชุมชนที่น่าสนอย่างยิ่งในเรื่องของการอยู่ร่วมกันของคนและ “ช้างป่า” จึงอยากขอเล่าเรื่องราวของคนและช้างแห่งช่องสะเดาให้ฟังกันก่อนจะไปสนุกสนานกับการล่องแพเปียกกัน

วสันต์ สุนจิรัตน์ หรือกำนันตึ๋ง กำลังโชว์ผึ้งกล่องให้ชม
คนกับช้างและการเลี้ยงผึ้งกล่อง

วสันต์ สุนจิรัตน์ หรือกำนันตึ๋งแห่งตำบลช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในชุมชนช่องสะเดาว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด เครือข่าย Startup ด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ได้เข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพบ้านช่องสะเดาในการเป็นชุมชนท่องเที่ยว ร่วมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว พัฒนาศักยภาพชุมชนให้เป็นเจ้าบ้านที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยในชุมชนก็มีกิจกรรมท่องเที่ยวหลายอย่างที่น่าสนใจ ทั้งการเดินป่า การล่องแพ และการส่องช้างป่า

กำนันตึ๋งยังได้เล่าให้ฟังต่อถึงความสัมพันธ์ของชุมชนช่องสะเดาที่มีกับช้างป่านี้ว่า พื้นที่บริเวณนี้อยู่ใกลักับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ที่มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอเมือง อำเภอบ่อพลอย อำเภอหนองปรือ และอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้มีช้างป่าแวะเวียนลงมาในที่ดินทำการเกษตรของชาวบ้านอยู่เสมอ 

ผึ้งบินว่อนออกจากกล่อง
ในครั้งแรกที่ได้พบช้างป่าลงมายังหมู่บ้านคือเมื่อปี 2546 ครั้งนั้นรู้สึกตื่นเต้นดีใจที่ได้เห็นช้างป่ามาใกล้หมู่บ้าน แต่ต่อมาจำนวนช้างที่ลงมายังหมู่บ้านเพิ่มจำนวนมากขึ้น สร้างความเสียหาย มีความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างมากขึ้น ทั้งการทำพืชผลเกษตรกรรมเสียหาย ช้างมาทำลายบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงทำร้ายชาวบ้านจนถึงแก่ชีวิตไปหลายคน ทำให้คนในชุมชนพยายามหาวิธีที่จะอยู่กับช้างป่าโดยมีความขัดแย้งกันให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำรั้ว ขุดคู ฯลฯ

ส่วนกำนันตึ๋งได้ใช้วิธีทำ "รั้วรังผึ้ง" ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งสามารถทำได้หลังจากได้ไปศึกษาดูงาน "โครงการรั้วรังผึ้ง"ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย พื้นที่ต้นแบบที่มีความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง และได้ใช้ภูมิปัญญาแก้ปัญหา โดยนำกล่องผึ้งเลี้ยงมาแขวนทำเป็นแนวรั้ว หากช้างป่าเดินมาชนกล่อง ฝูงผึ้งก็จะออกมารุมต่อย ครั้งต่อไปช้างก็จะไม่มายุ่งกับแนวรั้วนั้นอีก ถือเป็นการป้องกันช้างป่าโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อช้าง

แขวนผึ้งกล่องไว้ในพื้นที่กำลังก่อสร้าง ป้องกันช้างป่าเข้ามาทำลาย
ชาวบ้านช่องสะเดาจึงได้นำมาปรับใช้ในชุมชน เรียกว่าเป็นกลุ่มเลี้ยงผึ้งบ้านแก่งปลากด โดยกำนันตึ๋งรับหน้าที่ประธานกลุ่ม โดยถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังไม่ได้ใช้เป็นแนวรั้วขนาดยาวนัก แต่ใช้เพียงบางจุด เช่น ใกล้กับบ้านที่กำลังก่อสร้างเพื่อไม่ให้ช้างเข้ามาทำลาย หรือกับสวนเกษตรที่สำคัญๆ เช่นเรือนเพาะชำกล้าไม้ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 60 กล่อง 

แต่ผลพลอยได้ที่ดีในการเลี้ยงผึ้งกล่องของชุมชนก็คือการได้ “น้ำผึ้งเลี้ยง” ซึ่งเป็นน้ำผึ้งแท้ 100% มาจำหน่าย ซึ่งกำนันตึ๋งบอกว่าเป็นของขายดี ผลิตมาเท่าไรก็ไม่พอ

น้ำผึ้งแท้ๆ จากผึ้งกล่องที่เลี้ยงในชุมชน

ช้างป่าที่ลงมาใกล้หมู่บ้าน (ภาพจากวิดิโอของกำนันตึ๋ง)
ส่องช้างกลางไร่มัน

จากการติดตามนับจำนวนช้างป่าที่ลงมาในหมู่บ้านนั้น กำนันตึ๋งกล่าวว่านับได้ราว 40 ตัว บางตัวก็แวะเวียนมาจนเป็นขาประจำ ดังนั้นจึงปิ๊งไอเดียทำกิจกรรมส่องช้างป่ายามค่ำคืน ซึ่งสถานที่ส่องช้างนั้นก็ไม่ได้เข้าไปกลางป่าลึกที่ไหน แต่ขับรถวนเลาะไปตามสวนเกษตรไร่มัน ไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน ซึ่งบางครั้งก็ไม่ต้องเข้าไปไกลเพราะช้างป่าจะออกมาให้เห็นริมถนนสายหลักเลยก็มี ถนนบริเวณนั้นจึงมีป้ายให้ผู้ใช้ทางระวังช้างป่าเป็นระยะๆ

พวกเรานั่งหลังรถกระบะหลังคาเปิดโล่ง มีพร้อมด้วยไฟฉายสปอร์ตไลท์คอยส่องดูตามสุมทุมพุ่มไม้ในไร่ กำนันตึ๋งกล่าวว่า ราวๆ สามทุ่มเป็นต้นไปจะเป็นช่วงเวลาที่พบช้างป่าได้ง่าย แล้วเราก็ได้เห็นจริงๆ ในระยะไกล แม้เจ้าช้างจะอายไม่ยอมหันหน้ามาให้เห็น เผยโฉมแต่เพียงบั้นท้าย แต่กำนันก็จำได้ว่าเป็นช้างขาประจำที่พบหน้ากันบ่อยๆ  อีกทั้งยังเล่าว่าวันนี้ถือว่าเห็นน้อย เพราะบางวันอาจเห็นช้างป่านับสิบเลยทีเดียว แต่ก็ถือได้ว่าน่าตื่นเต้น และนับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจไม่น้อย

ส่องช้างป่าในไร่มันยามค่ำคืน  (ภาพจากวิดิโอของกำนันตึ๋ง)

นั่งรถกระบะไปส่องช้าง

เฮฮาบนแพเปียกกลางแม่น้ำ
ล่องแพเปียกกลางลำน้ำแควใหญ่


และแน่นอนว่าอีกหนึ่งกิจกรรมที่พลาดไม่ได้ ที่เราได้กล่าวไปในตอนต้นแล้ว นั่นก็คือกิจกรรมแอดเวนเจอร์เล็กๆ อย่างการ “การล่องแพเปียก” เป็นการล่องแพในแม่น้ำแควใหญ่ จุดขึ้นแพก็อยู่ที่ชุมชนช่องสะเดานี่เอง เราจะใช้เรือยนต์ลากแพที่ทำจากแผ่นโฟมขนาดใหญ่ที่คนสามารถขึ้นไปนั่งได้ ไปกันจำนวนน้อยก็ใช้แพแถวสั้นๆ หรือหากมากันหลายคนก็ต่อแพยาวได้ตามจำนวนคน

แดดยามบ่ายแม้จะยังส่องแสงแรงกล้า แต่ละอองน้ำและลมเย็นๆ ที่ปะทะร่างระหว่างที่แพถูกลากไปกลางแม่น้ำนั้นก็ทำให้เราเย็นฉ่ำชื่นใจ ระยะทางที่ลากแพไปนี้มีความยาว 7 กิโลเมตร ใช้เวลาราว 40 นาที ระหว่างทางแต่ละคนก็ดื่มด่ำกับธรรมชาติของป่าเขาและสายน้ำ บ้างกระโดดขึ้นลงเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน บ้างนั่งๆ นอนๆ ตีขาเล่นน้ำบนแผ่นโฟม สัมผัสกับบรรยากาศสุดชิลกันให้เต็มที่

โดดลงเล่นน้ำระหว่างทาง

บรรยากาศแสนสบายกลางสายน้ำ
ค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนช่องสะเดานั้นมีดังนี้ การล่องแพเปียกราคาคนละ 200 บาท ระยะทาง 7 ก.ม. หรือล่องแพเปียกพร้อมกับพักที่โฮมสเตย์ในชุมชน คนละ 300 บาท  กิจกรรมส่องช้างป่ายามค่ำคืนราคาคนละ 150 บาท อีกทั้งยังมีกิจกรรมเดินป่าในชุมชน และหากใครอยากสอบถามความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งกล่อง ก็สามารถมาพูดคุยสอบถามความรู้จากกับกำนันตึ๋งได้เลย

ดื่มด่ำกับธรรมชาติของแม่น้ำแควใหญ่
ผู้ที่สนใจไปท่องเที่ยวชุมชนช่องสะเดา สามารถติดต่อกับชุมชนโดยตรงได้ที่ คุณกฤษณา ขวัญเมือง (อ้อย) ผู้ประสานงานชุมชน โทร. 08 5291 0993 หรือสอบถามรายละเอียดได้ทางเพจ ท่องเที่ยวชุมชน บ้านช่องสะเดา กาญจนบุรี CBT Ban Chong Sadao Kanchanaburi


กำลังโหลดความคิดเห็น